วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

มองเรื่องชนชั้นจากศตวรรษที่ 21


           สำหรับต้นศตวรรษที่ 21 การพูดถึงการต่อสู้ทางชนชั้นหรือการเมืองเรื่องชนชั้น ดูจะเป็นอะไรที่ออกจะประหลาดอยู่ไม่น้อยในสายตาของผู้คนทั่วไป ยิ่งเมื่อสิ่งที่เรียกว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ (new social movement) ปรากฏตัวขึ้นในฐานะการต่อสู้ที่ก้าวข้ามเรื่องของชนชั้น โดยหันไปให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาเฉพาะที่ตัดข้ามเส้นแบ่งระหว่างชนชั้นต่างๆ อย่างเช่นปัญหาเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ก็ยิ่งทำให้การทำความเข้าใจเรื่องชนชั้นดูจะสำคัญน้อยลง

แต่ทั้งหมดนี้มันแปลว่ามิติทางชนชั้นได้หายไปจากโลกในปัจจุบันแล้วหรือเปล่า?

หากจะมีใครสักคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปที่ว่าชนชั้นหมดความสำคัญลงแล้วในปัจจุบัน ศาสตราจารย์ Göran Therborn นักสังคมวิทยาแนวมาร์กซิสต์จากมหาวิทยาลัย Cambridge คงเป็นผู้หนึ่งที่คัดค้านข้อสรุปดังกล่าวอย่างแข็งขัน

Therborn เป็นนักวิชาการคนสำคัญที่พยายามนำเสนอบทวิเคราะห์ต่อปัญหาความเปลี่ยนแปลงเรื่องชนชั้นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 มาจนถึงต้นศตวรรษที่ 21 อย่างเป็นระบบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเมืองเรื่องชนชั้นยังคงมีความสำคัญอยู่แม้ในช่วงเวลาที่มันได้รับความสนใจน้อยลง 

          ในบทความว่าด้วยเรื่องชนชั้นในศตวรรษที่ 21 (Class in The 21st Century) เขาเสนอว่าถ้าหากชนชั้นที่เป็นตัวแสดงหลักของศตวรรษที่ 20 คือชนชั้นแรงงานกรรมกร (Working Class) ชนชั้นที่เป็นตัวแสดงหลักในศตวรรษที่ 21 นี้ก็คือชนชั้นกลางระดับโลก (Global Middle Class) นั่นเอง

          คำถามคือทำไมชนชั้นแรงงานจึงพ่ายแพ้หรือหมดความสำคัญลงไปจากศตวรรษที่แล้ว

         Therborn อธิบายว่าสาเหตุหลักของความพ่ายแพ้ของชนชั้นแรงงานในศตวรรษที่ 20 มีอยู่ 2 ประการ ประการแรก กระบวนการแปลงทุกสิ่งให้เป็นเรื่องทางการเงิน (Financialization) ซึ่งเป็นฐานของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ได้ทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นจนไปยับยั้งกระบวนการความขัดแย้งแบบวิภาษวิธีหลักแบบมาร์กเซียน (Marxian Grand Dialectic) ซึ่งพูดถึงความขัดแย้งระหว่างพลังการผลิตที่มีลักษณะเป็นส่วนรวมและเข้าถึงได้ในสังคมวงกว้างมากขึ้นกับความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ถูกทำให้กลายเป็นของเอกชนและจำกัดอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กลงเรื่อยๆ ดังนั้น การปฏิวัติจึงไม่เกิดขึ้นตามคำทำนายของมาร์กซ์เนื่องจากกระบวนการวิภาษวิธีดังกล่าวสะดุดหยุดลง  

ประการที่สอง เพราะการลดลงของกิจกรรมและศักยภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม (De-industrialization) ในประเทศพัฒนาแล้วได้เข้าไปขัดขวางความขัดแย้งระหว่างกรรมกรกับนายทุนที่เคยมีมานาน เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวทำให้ชนชั้นกรรมกรในประเทศอุตสาหกรรมเดิมอ่อนแอลงและหมดอำนาจต่อรอง เนื่องจากนายทุนต้องย้ายโรงงานไปยังพื้นที่ชายขอบหรือประเทศกำลังพัฒนา เพื่อแสวงหาพื้นที่ของแรงงานและแหล่งทรัพยากรราคาถูกใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

         แต่ถึงการปฏิวัติของชนชั้นแรงงานจะพ่ายแพ้ไปในศตวรรษที่ 20 กระนั้น Therborn ก็ยังมองโลกในแง่ดีว่าอย่างน้อยขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติของชนชั้นแรงงานในช่วงเวลาดังกล่าวได้ทิ้งมรดกที่สำคัญๆ เอาไว้อยู่ 4 ประการด้วยกัน

ประการแรกคือเป็นตัวกระตุ้นให้โลกทุนนิยมยอมปฏิรูปตัวเองจากภายในระบบ เช่น การกระจายที่ดินหรือการพัฒนาสิทธิทางสังคมขั้นพื้นฐานต่างๆ ประการที่สองคือ เป็นตัวช่วยลดพลังของลัทธิเหยียดเชื้อชาติและลัทธิล่าอาณานิคมของทวีปยุโรปและอเมริกันให้น้อยลง ประการที่สามคือ มันได้สร้างเหล่านักสู้แห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ยอมสู้ตายขนาดเสียสละชีวิตตนเองขึ้นมาเป็นจำนวนมากทั่วทุกมุมโลก และประการสุดท้ายคือ มันช่วยสร้างความหลากหลายทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วยการทำให้โลกของการเมืองระหว่างประเทศมีหลายขั้วอำนาจ ที่ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่ยังรวมถึงประเทศจีนและรัสเซีย (สหภาพโซเวียตในเวลาดังกล่าว)

  เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ความสำคัญของชนชั้นกลางปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ Therborn ชี้ให้เห็นความยุ่งยากในการนิยามความหมายว่าอะไรคือชนชั้นกลางกันแน่ นิยาม 3 แบบที่เขายกมาเป็นตัวอย่างในบทความมีความแตกต่างกันในเรื่องของจำนวนรายได้ที่ควรจะได้รับต่อวันเพื่อจะถูกนับว่าเป็นสมาชิกของชนชั้นกลาง แต่ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นชนชั้นกลางคือการมีหน้าที่การงานที่มั่นคงและได้รับค่าแรงอย่างสม่ำเสมอ

            Therborn อธิบายถึงความสำคัญของชนชั้นกลางในศตวรรษที่ 21 โดยการวิเคราะห์ใน 2 มิติ คือการมองชนชั้นกลางในฐานะชนชั้นของผู้บริโภค และความสัมพันธ์ของชนชั้นกลางต่อระบอบประชาธิปไตย

           การมองชนชั้นกลางในฐานะชนชั้นของผู้บริโภค คือการชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมบริโภคนิยมในปัจจุบันเป็นผลมาจากการที่โลกถูกทำให้ยอมรับรสนิยมในการบริโภคแบบชนชั้นกลาง และยิ่งไปกว่านั้น ชนชั้นกลางยังทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างชนชั้นคนรวยกับคนจน โดยในด้านหนึ่งก็คือการทำให้สังคมยอมรับการบริโภคแบบอภิสิทธิ์ของคนรวย ในขณะที่คนจนก็ได้รับแรงบันดาลใจที่อยากจะบริโภคแบบเดียวกับชนชั้นกลาง

          ประการที่สอง ชนชั้นกลางถูกนำไปเชื่อมโยงกับการพัฒนาประชาธิปไตย โดยที่สื่อมวลชนสายเสรีนิยมมักจะมองการเติบโตและรุ่งเรืองขึ้นของชนชั้นกลางว่าเป็นแนวหน้าของการปฏิรูประบอบประชาธิปไตย

          Therborn ยกกรณีอียิปต์ว่าเป็นตัวอย่างของการปฏิวัติโดยชนชั้นกลางที่ก้าวหน้าของศตวรรษที่ 21 แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ชี้ว่าชนชั้นกลางมีลักษณะที่ เปลี่ยนไปตามสถานการณ์” (situationally) ดังนั้นชนชั้นกลางจึงเป็นพันธมิตรที่ไว้ใจไม่ได้ของทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายเผด็จการ ในบางช่วงเวลาก็เป็นแนวหน้าในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ในบางเวลาก็สามารถเป็นแนวหน้าในการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้เช่นเดียวกัน

         Therborn ยังเปรียบเทียบความไม่เสมอภาคในความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกับชาติระหว่างศตวรรษที่ 20 และ 21 ใน 2 มิติ คือความไม่เสมอภาคระหว่างชนชั้นต่างๆ ภายในชาติ และความไม่เสมอภาคระหว่างชาติต่างๆ  

เขาเสนอว่า ในศตวรรษที่ 20 ความไม่เสมอภาคระหว่างชนชั้นต่างๆ ภายในชาติมีช่องว่างที่ลดลงอันเนื่องมาจากการต่อสู้เคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน นำไปสู่การสร้างรัฐสวัสดิการในหลายที่ แต่มิติของความไม่เสมอภาคระหว่างชาติต่างๆ กลับเพิ่มมากยิ่งขึ้น อันเป็นผลมาจากลัทธิล่าอาณานิคม

แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 สถานการณ์ได้กลับตาลปัตร ความไม่เสมอภาคระหว่างชนชั้นต่างๆ ภายในชาติมีช่องว่างเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการพังทลายของรัฐสวัสดิการภายใต้กระแสของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ในขณะที่ความไม่เสมอภาคระหว่างชาติต่างๆ กลับลดลงอัน เนื่องมาจากการให้ความช่วยเหลือและนโยบายการพัฒนาในระดับระหว่างประเทศ

          ในบทสรุป Therborn เสนอให้มีการนิยามชนชั้นเสียใหม่โดยชวนให้เราคิดถึงชนชั้นใหม่ที่เรียกว่า Plebeian หรืออาจแปลได้ว่า ชนชั้นสามัญชน

          Plebeian เป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของกลุ่มคนที่มาจากหลายกลุ่มหลายชนชั้นทางสังคม ตั้งแต่คนจนเมือง ชนพื้นเมืองกลุ่มน้อยต่างๆ และกลุ่มชนชั้นกลางหัวก้าวหน้า การนิยามชนชั้นแบบใหม่นี้เป็นการมองชนชั้นเป็นเข็มทิศในลักษณะหลวมๆ ที่กลุ่มคนซึ่งถูกกดขี่ ถูกขูดรีด และสูญเสียผลประโยชน์จากกลุ่มต่างๆ สามารถมารวมตัวกันภายใต้เป้าหมายเพื่อการต่อสู้ในทิศทางเดียวกัน

การนิยามชนชั้นแบบนี้เป็นการนิยามในเชิงอัตวิสัยที่เอาความรู้สึกถูกกดขี่ของคนกลุ่มต่างๆ เป็นตัวตั้ง ซึ่งแตกต่างจากการนิยามชนชั้นแบบภววิสัยของ Marx ที่กำหนดว่าคนคนหนึ่งอยู่ในชนชั้นไหนโดยดูจากตำแหน่งแห่งที่ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่คนคนนั้นอาศัยอยู่  

        Therborn ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับเขาแล้ว ถ้าหากภูมิรัฐศาสตร์เก่าของศตวรรษที่ 20 คือทวีปยุโรป ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ที่อาจเอื้อต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยฝ่ายซ้ายในศตวรรษที่ 21 อาจอยู่ในทวีปเอเชียนั่นเอง  
           
ที่มา: GÖRAN THERBORN. New Left Review 78, November-December 2012.  https://newleftreview.org/II/78/goran-therborn-class-in-the-21st-century



                 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น