วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

ความหลากหลายของประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับยุครู้แจ้ง


ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี แปลและเรียบเรียง



ไม่มียุคสมัยใดในทางประวัติศาสตร์ที่จะถูกนำมาวิเคราะห์ ถกเถียง ได้รับการเฉลิมฉลอง รำลึกถึง และโดนโจมตีอย่างหนักหน่วงมากเท่ากับยุครู้แจ้งหรือยุคภูมิธรรม (the Enlightenment) อีกแล้ว

ยุครู้แจ้งแตกต่างจากยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือยุคสมัยแห่งการปฏฺิรูปศาสนา ตรงที่มันไม่ได้เป็นเพียงช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับโลกร่วมสมัยเผยแสดงตัวออกมา

ตั้งแต่บทบาทของวิทยาศาสตร์ ถึงสงครามต่อต้านการก่อการร้าย จากเรื่องเสรีภาพในการพูด จนถึงการเหยียดเชื้อชาติ เราจะพบว่ามันมีข้อถกเถียงร่วมสมัยน้อยเรื่องมากที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับยุครู้แจ้ง

จินตนาการที่เรามีเกี่ยวกับยุครู้แจ้งจึงกลายเป็นสมรภูมิทางปัญญาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับยุครู้แจ้งถูกท้าทายและโต้แย้งจากผู้เกี่ยวข้องพอๆ กับตัวเนื้อหาของยุครู้แจ้งเอง

คำถามยุครู้แจ้งว่าคืออะไร มีจุดเริ่มต้นและมีพัฒนาการมาอย่างไร เริ่มถูกเขียนและถ่ายทอดโดยเหล่านักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาหลายต่อหลายคน เพื่อจะตอบคำถามที่ว่า "อะไรคือยุครู้แจ้ง" (What is Enlightenment?)




                Immanuel Kant
                     และงาน 
Answering the Question: What is Enlightenment?



Immanuel Kant หนึ่งในนักปรัชญาเยอรมันคนสำคัญที่สุดของขบวนการยุครู้แจ้งตอบคำถามดังกล่าวว่ายุครู้แจ้งคือ “การหลุดพ้นจากความอ่อนด้อยทางปัญญาความคิด”

สำหรับ Kant, Voltaire, Hume และ Diderot แล้ว ความสำคัญของยุครู้แจ้งคือการชำระล้างจิตใจของชาวยุโรปให้พ้นมลทินจากไสยศาสตร์มืดแห่งยุคกลาง และยังช่วยเปิดทางให้แสงสว่างแห่งการใช้เหตุผลสามารถสาดส่องลงไปเพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ได้โดยตรง

นักประวัติศาสตร์ในยุคหลังหลายต่อหลายคนพยายามที่จะเขียนงานขึ้นเพื่อพัฒนาข้อถกเถียงเกี่ยวกับยุคสมัยดังกล่าวต่อไป เช่น คนอย่าง Ernst Cassirer ในงานศึกษาสุดคลาสสิคของเขาซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 1932 ที่ชื่อ The Philosophy of the Enlightenment ก็เป็นหนึ่งในงานชิ้นสำคัญที่มีอิทธิพลในกระแสดังกล่าว





Ernst Cassirer และหนังสือThe Philosophy of the Enlightenment 


ยุครู้แจ้งในความเข้าใจของ Cassirer คล้ายคลึงกับยุครู้แจ้งของ Kant กล่าวคือเป็นยุคที่โดยเนื้อหาแล้วเป็นโครงการทางภูมิปัญญา (intellectual project) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้จิตวิญญาณของมนุษย์สามารถบรรลุถึง "ความกระจ่างชัดและความลุ่มลึกในการทำความเข้าใจธรรมชาติและโชคชะตาของตนเอง รวมทั้งของคุณลักษณะและภารกิจหลักของพวกเขา"

แต่ในยุคสมัยหลัง ทัศนะของงานเขียนจำนวนมากที่อธิบายยุครู้แจ้งว่าเป็นขบวนการทางภูมิปัญญาที่มีความเชื่อมโยงและเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจในภาคพืันยุโรปโดยทั่วไปอย่างเป็นวงกว้าง  เริ่มถูกท้าทายและโต้แย้งจากนักคิดหลายต่อหลายคน

นักประวัติศาสตร์บางคนเริ่มสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับยุครู้แจ้งโดยวางอยู่บนของขอบเขตแบบชาติ มากกว่าจะอธิบายโดยอยู่บนฐานของยุโรปทั้งภาคพื้นทวีป เช่น  The French Enlightenment, the German Enlightenment และ the Scottish Enlightenment ซึ่งเชื่อว่าสามารถถูกอธิบายแยกออกมาจากแง่มุมของตนเองและสามารถทำให้เห็นความแตกต่างในรายละเอียดได้

นักประวัติศาสตร์บางคนเริ่มจะเน้นย้ำให้เห็นถึงแง่มุมของพลวัตทางสังคมและวัฒนธรรมของยุครู้แจ้ง ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของนักคิดปัญญาชนกลุ่มเล็กๆเท่านั้น แต่มองว่ายุครู้แจ้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการของมนุษย์เดินดินทั่วๆไปมากกว่าจะมองว่ามันเป็นความคิดอันสูงส่งซึ่งเกิดขึ้นมาจากนักคิดไม่กี่คนหรือตำราเพียงไม่กี่เล่ม

ตัวอย่างเช่นงานของ  Robert Darnton นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและสิ่งพิมพ์ก็ถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่พยายามอภิปรายว่า "เราควรตั้งคำถามต่อการให้ความสำคัญกับผู้มีปัญญาและการให้ความสำคัญต่อมุมมองแบบอภิปรัชญาเกี่ยวกับชีวิตของปัญญาชนในศตวรรษที่สิบแปดมากเกินไป"

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพยายามท้าทายและโต้แย้งมุมมองที่อธิบายยุครู้แจ้งว่าเป็นสิ่งที่ดีแต่เพียงด้านเดียว  โดยเฉพาะงานชิ้นสำคัญที่ชื่อ  Dialectic of Enlightenment ของสองนักปรัชญาผู้ร่วมก่อตั้งสำนัก Frankfurt School อย่าง Theodor Adorno และ Max Horkheimer ที่เขียนงานชิ้นดังกล่าวขึ้นเพื่อตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดประเทศอย่างเยอรมนีซึ่งเป็นชาติที่มีรากฐานทางภูมิปัญญาและปรัชญาแบบยุครู้แจ้งอันลุ่มลึกมากจึงสามารถนำไปสู่การเกิดขึ้นของระบอบนาซีอันเลวร้ายได้


Max Horkheimer และ Theodor Adorno 




คำตอบของทั้งคู่ดูจะวางอยู่บนเรื่องธรรมชาติของลัทธิเหตุผลนิยมแบบยุครู้แจ้ง (Enlightenment Rationalism)  โดย Adorno และ Horkheimer ไม่ได้ปฏฺิเสธและต่อต้านยุครู้แจ้งไปเสียทั้งหมด แต่พวกเขามองว่ายุครู้แจ้งไม่ได้มีแค่แง่มุมของด้านแสงสว่างที่เปิดทางไปสู่การปลดปล่อยมนุษย์อย่างที่เราเคยเชื่อกัน แต่มันยังมีแง่มุมของการนำไปสู่ความมืดมิดแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ด้วย

ซึ่งในช่วงทศวรรษหลังๆ ก็มีการนำความคิดแบบนี้ไปพัฒนาต่อยอดโดยนักคิดสายหลังสมัยใหม่และหลังอาณานิคม ซึ่งได้ทำให้ความมีเหตุมีผลและความเป็นสากลนิยมแบบยุครู้แจ้งที่เคยถูกมองมาว่าเป็นเสาหลักของความคิดก้าวหน้ามาอย่างยาวนาน ณ ตอนนี้กลับถูกนักคิดหลายคนมองว่ามันเป็นการเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง กระทั่งเป็นเรื่องของการเหยียดชาติพันธุ์

ในท่ามกลางความแตกต่างและไม่ลงรอยกันของภูมิทัศน์การศึกษาเกี่ยวกับยุครู้แจ้ง งานอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญและถือเป็นหมุดหมายใหม่ของการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับยุครู้แจ้ง ก็คืองานของคนอย่าง Jonathan Israel ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ และเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ Spanish และ Dutch เป็นการเฉพาะ

งานไตรภาค 3 ชิ้นสำคัญของ Israel ที่เริ่มตีพิมพ์ขึ้นมาเมื่อสิบกว่าปีก่อน เป็นชุดของหนังสือที่เกี่ยวข้องกับยุครู้แจ้งโดยตรง อันประกอบไปด้วย  1) Radical Enlightenment 2) Enlightenment Contested และ 3) Democratic Enlightenment  โดยหนังสือชุดนี้ของเขาถือเป็นงานที่พยายามจะจัดวางข้อถกเถียงเกี่ยวกับคุณลักษณะของยุครู้แจ้งและความหมายของตัวมันที่มีต่อโลกสมัยใหม่ในแบบที่ต่างออกไป


Jonathan Israel และหนังสือชุดของเขา 






ในบรรดาข้อมูลจำนวนมหาศาลจากที่มาหลากหลายภาษา จำนวนหน้ากระดาษนับพัน และจำนวนตัวหนังสือนับล้านจากงานทั้งสามเล่มของเขา สิ่งที่ Israel พยายามทำคือนำเสนอโครงสร้างการทำความเข้าใจเกี่ยวกับยุครู้แจ้งเสียใหม่

เช่นเดียวกับนักคิดหลายคนที่มาก่อนหน้าเขา Israel ยกย่องชื่นชมยุครู้แจ้งว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง (transformative period) ซึ่งยุโรปได้ขยับเปลี่ยนตนเองจากรูปแบบทางวัฒนธรรมที่วางอยู่บนแก่นของการมีศรัทธา จารีตประเพณีและสิทธิอำนาจบางอย่างร่วมกัน  ไปสู่รากฐานแบบใหม่ที่มองว่าทุกสิ่งทุกอย่าง-ไม่สำคัญว่าลึกซึ้งหรือรากฐานขนาดไหน-ล้วนสามารถถูกตั้งคำถามได้ภายใต้แสงสว่างของเหตุผลในเชิงปรัชญา และยังมองว่าเป็นยุครู้แจ้งเป็นยุคสมัยที่อำนาจนำของเทววิทยาในยุคเก่าถูกโค่นล้มลงไป

แต่ข้อแตกต่างสำคัญซึ่งเป็นหัวใจของข้อถกเถียงในงานของ Israel ก็คือเขาเสนอว่ายุคสมัยที่เรียกว่ายุครู้แจ้งนั้นไม่ได้มีอยู่สายเดียวและเป็นเอกภาพกันอย่างที่นักคิดก่อนหน้าเขาอธิบาย แต่เขาเสนอว่ายุครู้แจ้งมีอยู่ 2 แบบ/ลักษณะ/ขบวนการ( there were two Enlightenments) ด้วยกัน

ยุครู้แจ้งแบบกระแสหลัก (mainstream enlightenment ) คือยุครู้แจ้งแบบของ Kant, Locke, Voltaire และ Hume ซึ่งเป็นกลุ่มนักคิดที่ได้นำเสนอหน้าตาแบบสาธารณะ/กระแสหลักให้กับยุครู้แจ้ง ดังที่คนทั่วไปรู้จักและนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ได้เขียนถึง

แต่ Israel เสนอว่ามันยังมีขบวนการของยุครู้แจ้งอีกหนึ่งกระแสซึ่งไม่ใช่กระแสหลัก แต่เขาเรียกว่ามันคือ Radical Enlightenment หรืออาจจะแปลได้ว่าเป็นยุครู้แจ้งแบบถอนรากถอนโคน ซึ่งถูกสร้างและได้รับอิทธิพลโดยนักคิดหลายคนซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก แต่คนหล่านี้ถือเป็นกลุ่มคนที่สร้างและจัดวางหัวใจรวมทั้งจิตวิญญาณให้แก่ยุครู้แจ้งเลยทีเดียวในความเห็นของ Israel เช่น คนอย่าง d’Holbach, Diderot, Condorcet เป็นต้น แต่ในบรรดาทั้งหมดนั้น คนที่ Israel ให้ความสำคัญมากที่สุดดูจะเป็น นักปรัชญาชาวดัสต์อย่าง Baruch Spinoza นั่นเอง


Baruch Spinoza




Israel เสนอว่ายุครู้แจ้งทั้งสองแบบถูกแบ่งแยกออกจากกันบนคำถามที่ว่า "เหตุผลถือเป็นสิ่งที่มีอำนาจมากที่สุดในกิจการของมนุษย์ใช่หรือไม่"  

ถ้าเป็นพวกยุครู้แจ้งแบบกระแสหลักก็จะตอบคำถามดังกล่าวว่า แม้เหตุผลจะมีความสำคัญในชีวิตของมนุษย์ แต่เหตุผลก็ต้องมีพื้นที่ซึ่งถูกจำกัดอยู่โดยศรัทธาและจารีตประเพณีอยู่เช่นกัน Israel เห็นว่า พวกกระแสหลักได้จำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อรูปแบบทางสังคมและความเชื่อแบบเก่าเอาไว้อย่างมีขอบเขต

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่เรียกว่าพวกยุครู้แจ้งแบบถอนรากถอนโคน (The  Radical Enlightenment) กลับยืนยันที่จะปฏิเสธการประณีประนอมกับมรดกจากอดีตทุกรูปแบบ และพยายามหาหนทางที่จะกวาดล้างโครงสร้างเก่าที่ดำรงอยู่ออกไปให้หมดสิ้น เพราะพวกเขายืนยันความคิดที่ว่า 'เหตุผล' คือสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดในการกำหนดกิจการของชีวิตมนุษย์ ซึ่งไม่อาจถูกจำกัดได้โดยความเชื่อ ศรัทธา และจารีตประเพณีใดๆ

ในความเห็นของ Israel สิ่งที่เขาเรียกรวมๆว่า "ชุดของคุณค่าพื้นฐาน" ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้นิยามความเป็นสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ความอดทนอดกลั้น เสรีภาพส่วนบุคคล ประชาธิปไตย ความเสมอภาคทางเชื้อชาติ การปลดปล่อยทางเพศ และสิทธิสากลที่มีต่อความรู้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ได้รับมาจากข้อเสนอของกลุ่ม Radical Enlightenment ในทางหลักการทั้งสิ้น

ทั้งหมดที่เล่ามานี้เพื่อจะทำให้เห็นว่าการเขียนและตีความที่นักวิชาการมีต่อ 'ยุครู้แจ้ง' มีได้หลายมุมมองและหลายวิธีการ การเหมารวมว่า 'ยุครู้แจ้ง' เป็นขบวนการที่เป็นเอกภาพ หรือเป็นยุคสมัยที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อมนุษยชาติเท่านั้นจึงเป็นข้อสรุปที่เร็วเกินไป



[แปลและเรียบเรียงจาก Kenan Malik. 'Seeing reason: Jonathan Israel's radical vision.']

ขอบคุณรูปภาพจาก google.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น