วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

อาเรนด์และมาร์กซ์ (แปล)


อาเรนด์และมาร์กซ์ (Arendt & Marx)[1]


ฉันต้องการจะกอบกู้เกียรติภูมิของมาร์กซ์ในสายตาคุณ
        จดหมายของ Hannah Arendt ถึง Karl Jaspers ปี 1950

Samantha Rose Hill [2] เขียน
ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี แปล




          ฮันนาห์ อาเรนด์ ไม่ใช่ผู้นิยมชมชอบในตัวคาร์ล มาร์กซ์ แต่เธอเอาจริงเอาจริงกับงานเขียนของเขา หนังสือเรื่องทุน (Das Kapital) ทั้งสามเล่มมีอยู่ในห้องสมุดส่วนตัวของเธอที่วิทยาลัยบาร์ด (Bard College) เธอเริ่มต้นบทที่ว่าด้วยเรื่อง แรงงาน’ (Labour) ในหนังสือ The Human Condition โดยการประกาศว่า ในบทต่อไปนี้ คาร์ล มาร์กซ์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์  ในการบรรยายของเธอเกี่ยวกับมาร์กซ์ซึ่งถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานนี้อยู่ในหนังสือรวมบทความที่มี เจโรม คอห์น (Jerome Kohn) เป็นบรรณาธิการ ชื่อ Thinking Without a Banister อาเรนด์เริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า มันไม่เคยเป็นเรื่องง่ายในการคิดและเขียนเกี่ยวกับคาร์ล มาร์กซ์




          การอ่านงานของอาเรนด์ที่เขียนเกี่ยวกับมาร์กซ์ทำให้เรารู้สึกถึงความสบสนเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาเรนด์ทั้งจัดวางมาร์กซ์ไว้ในจารีตของปรัชญาการเมืองตะวันตก ขณะเดียวกันเธอก็พิจารณาอย่างจริงจังว่ามีองค์ประกอบของความเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ
(totalitarianism) อะไรบ้างที่อาจซ่อนอยู่ภายใต้ผิวเปลือกนอกในงานเขียนของมาร์กซ์ และอาเรนด์ยอมรับว่ามันมีเส้นแบ่งบางๆ อยู่ระหว่างตัวมาร์กซ์เองกับลัทธิมาร์กซ์จำนวนมากที่เกิดขึ้นมาจากการอ่านงานของมาร์กซ์
  อาเรนด์ยอมรับว่ามาร์กซ์เป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่ ข้อวิจารณ์หลักของเธอที่มีต่อมาร์กซ์ก็คือการที่มาร์กซ์เชิดชูกิจกรรมของการใช้แรงงาน (laboring activity) ว่าเป็นความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ เธอกล่าวถึงมาร์กซ์อย่างรวบรัดด้วยประโยคที่ว่า แรงงานถือเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดมนุษย์สำหรับอาเรนด์ แรงงานเป็นสิ่งที่ผูกพันเราเข้ากับธรรมชาติ แรงงานคือกิจกรรมทางกายภาพที่ทำให้เราผูกพันอยู่กับเงื่อนไขแวดล้อมของเราในฐานะสัตว์ที่มีชีวิต สำหรับเธอ ชีวิตที่ดีไม่สามารถเกิดขึ้นจากกิจกรรมของการใช้แรงงานได้ด้วยตัวมันเอง เราต้องถูกปลดปล่อยออกจากแรงงานและเป็นอิสระที่จะมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะ
          งานเขียนของอาเรนด์โดยพื้นฐานเกี่ยวข้องกับพื้นที่ของเสรีภาพและเสรีภาพจากทรราช จากการอ่านของเธอ งานเขียนของมาร์กซ์โดยพื้นฐานนั้นเกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่ยึดมั่นอยู่กับการดำรงอยู่ทางร่างกายซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับเสรีภาพ เธอเป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อการที่ลัทธิบริโภคนิยมกลายเป็นสิ่งที่กำหนดสังคมร่วมสมัย แต่เธอก็เคลือบแคลงสงสัยต่อแรงผลักดันหลักในเชิงอุดมการณ์ที่อยู่ในงานเขียนของมาร์กซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพราะงานเขียนของมาร์กซ์ผูกโยงอยู่กับแนวคิดเรื่องความรุนแรงและประวัติศาสตร์ ซึ่งสำหรับอาเรนด์ถือเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความหวาดกลัวทางการเมืองโดยตรง ถึงที่สุด อาเรนด์ไม่ได้กล่าวโทษมาร์กซ์ต่อการปรากฏขึ้นของลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่เธอมองเห็นบางอย่างในแบบแผนความคิดของมาร์กซ์ซึ่งทำให้แนวคิดของเขาเป็นสิ่งที่อ่อนไหวต่อพวกนักอุดมการณ์ คอนเสปหลักในงานของมาร์กซ์ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการใช้แรงงาน ความจำเป็นของความรุนแรง และเส้นทางที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของประวัติศาสตร์ ล้วนแต่มีบทบาทบนเวทีโลกของศตวรรษที่ยี่สิบ สำหรับอาเรนด์ ทั้งแรงงาน ความรุนแรง และประวัติศาสตร์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ
      โครงการเกี่ยวกับมาร์กซ์ที่ไม่เสร็จสมบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของอาเรนด์ที่จะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ของเผด็จการเบ็ดเสร็จในศตวรรษที่ยี่สิบ บทความแรกที่อยู่ในหนังสือรวมบทความที่กล่าวถึงข้างต้น ชื่อ Karl Marx and the Tradition of Western Political Thought เริ่มต้นด้วยการคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับมาร์กซ์ในฐานะที่เป็นจุดแตกหักของสายธารจารีตความคิดทางการเมืองตะวันตก  อาเรนด์วิพากษ์วิจารณ์ต่อพวกที่พยายามจะจัดวางงานเขียนของมาร์กซ์ให้อยู่ในแนวทางเดียวกับเลนินและสตาลิน เราไม่สามารถกล่าวโทษมาร์กซ์ว่าเป็นบิดาของการครอบงำแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จได้มากไปกว่าเพลโตหรืออริสโตเติ้ล เพราะปรัชญาของมาร์กซ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากจารีตกระแสหลักอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว อาเรนด์เขียนว่า ดูเหมือนมีน้อยคนนักในหมู่พวกที่ยอมรับข้อถกเถียงแบบนี้ที่จะตระหนักว่าการกล่าวโทษมาร์กซ์เรื่องลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จก็เท่ากับเป็นการกล่าวโทษจารีต (ปรัชญาการเมือง ผู้แปล) ตะวันตกในตัวมันเอง ว่าจะนำไปสู่ปลายทางแห่งความโหดร้ายของการปกครองรูปแบบใหม่นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครก็ตามที่วิจารณ์มาร์กซ์ก็กำลังวิจารณ์จารีตของความคิดตะวันตกเช่นกัน…”
          อาเรนด์กล่าวว่าเราต้องพูดถึงมาร์กซ์อย่างจริงจัง เพราะเขาเป็นผู้ที่พยายามจะต่อสู้กับวิกฤติพื้นฐานของยุคสมัยใหม่ นั่นคือปัญหาของแรงงานและประวัติศาสตร์ นี่คือจุดที่ทำให้ความคิดมาร์กซ์สำคัญสำหรับอาเรนด์ มาร์กซ์ให้ความสนใจอย่างแม่นมั่นต่อคำถามทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของเขา มันไม่ใช่ว่างานเขียนของมาร์กซ์เป็นสิ่งที่แตกหักจากจารีตของปรัชญาการเมืองตะวันตกและเปิดพื้นที่ให้กับลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ ตรงกันข้าม อาเรนด์เขียนว่า เราอาจถกเถียงว่าสายธารแห่งจารีตของพวกเราถูกทำให้แตกหัก ในแง่ที่การจัดประเภททางการเมืองแบบจารีตไม่เคยมีความหมายในสถานการณ์ดังกล่าว สถานการณ์ที่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ความเสมอภาคทางการเมืองถูกขยายไปสู่ชนชั้นแรงงาน

          มาร์กซ์มองว่าแรงงานกำลังประสบกับความเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สำคัญ แหล่งที่มาของความมั่งคั่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปและรวมไปถึงแหล่งกำหนดของคุณค่าทางสังคมก็เช่นเดียวกัน มนุษย์ทุกคนในสังคมทุนนิยมล้วนถูกเปลี่ยนไปสู่การเป็นผู้ใช้แรงงานในไม่ช้าก็เร็ว มาร์กซ์มองชนชั้นผู้ใช้แรงงานในฐานะกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์ที่เข้าร่วมในการต่อสู้เพื่อปลดแอกและเพื่อความยุติธรรมทางสังคม อาเรนด์กล่าวว่าสิ่งที่มาร์กซ์มองไม่เห็นคือการที่ความปรารถนาต่อการปลดแอดและความยุติธรรมทางสังคมเป็นสิ่งที่ใช้ได้กับเฉพาะปัจเจกบุคคลในยุคสมัยใหม่เท่านั้น และใช้การไม่ได้สำหรับกลุ่มทางสังคมอื่นใด ในการอ่านมาร์กซ์ของอาเรนด์ เธอไม่เพียงมองเห็นแค่เงื่อนไขของแรงงานเท่านั้น แต่ยังมองเห็นชุดคุณค่าทางสังคมที่สอดคล้องกันซึ่งจะนำมาสู่การกำหนดนิยามลักษณะทางสังคมด้วยกิจกรรมการใช้แรงงาน ในการยกสถานะให้กับแรงงานของมาร์กซ์ อาเรนด์มองเห็นการลบเลือนภาพการทำงาน อาชีพและกิจกรรมแบบอื่นๆ ของมนุษย์ให้หายไป
          มาร์กซ์นำเอาทัศนะแบบกำหนดนิยมของประวัติศาสตร์มาจากเฮเกล และอาเรนด์เน้นย้ำว่าถึงแม้จะมีปัญหาในกรอบการวิเคราะห์นี้ แต่มันก็พิสูจน์ว่ามาร์กซ์เองเป็นหนี้อย่างลึกซึ้งต่อจารีตความคิดของตะวันตก ผลลัพธ์ของเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะตั้งแต่นั้นมาร์กซ์ก็กลายเป็นจุดเชื่อมต่อในสายธารของจารีตที่แตกหักซึ่งสูญเสียอำนาจไปในศตวรรษที่ยี่สิบ มาร์กซ์เป็นนักคิดที่เราสามารถมองย้อนกลับไปหาเพื่อที่จะคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับคำถามว่าลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จปรากฏขึ้นได้อย่างไร เขาไม่ได้เป็นผู้ให้กำหนดลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่งานของเขาถือเป็นป้ายบอกทางที่เราจำเป็นต้องลดความเร็วลงเพื่ออ่าน เพื่อจะทำความเข้าใจว่าเรากำลังจะเดินไปในเส้นทางใด อาเรนด์เขียนว่า
          สำหรับเรา ลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จได้กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญของยุคสมัยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และดังนั้นการแตกหักกับจารีตจึงเป็นผลลัพธ์ที่ไม่อาจย้อนกลับได้ เพราะมาร์กซ์สนใจต่อข้อเท็จจริงเบื้องต้นใหม่ๆ จำนวนหนึ่งที่จารีตเดิมไม่ได้มีกรอบการคิดวิเคราะห์เอาไว้ให้ ความสำเร็จหรือล้มเหลวของมาร์กซ์จึงทำให้เราสามารถตัดสินความสำเร็จหรือล้มเหลวของตัวจารีตปรัชญาตะวันตกในตัวมันเองได้จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ กระทั่งก่อนที่มาตรฐานทางศีลธรรม กฎหมาย ทฤษฎี และภาคปฏิบัติ พร้อมทั้งสถาบันการเมืองและรูปแบบขององค์กรของมันจะพังทลายลงอย่างน่าตื่นตา การที่มาร์กซ์ยังคงมีอิทธิพลอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันของเราก็เป็นตัวชี้วัดถึงความยิ่งใหญ่ของเขา การที่เขาอาจจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ของลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ (แม้เป็นที่ชัดเจนว่ามาร์กซ์ไม่สามารถถูกเรียกว่าเป็น สาเหตุของมันได้ก็ตาม) ก็ถือเป็นสัญญาณของความสำคัญอย่างแท้จริงของความคิดเขา ถึงแม้ว่ามันก็ยังเป็นตัวชี้วัดถึงความล้มเหลวของเขาในเวลาเดียวกัน
          ในข้อความนี้เราเห็นการยกย่องความคิดของมาร์กซ์จากอาเรนด์ รวมทั้งความสับสนของเธอที่มีต่อความคิดของเขา ความยิ่งใหญ่ของมาร์กซ์คือการปรับตัวต่อโลกที่เขามีชีวิตอยู่ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไป และนี่ถือเป็นคุณธรรมความสามารถที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่นักคิดทางการเมืองคนหนึ่งสามารถมีได้




[1] บทความแปลชิ้นนี้ถือเป็นร่างแรกที่ยังไม่ผ่านการแก้ไขปรับปรุงภาษาใดๆ ดังนั้นหากมีความผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้  - แปลจากบทความ Arendt & Marx (ที่มา: https://medium.com/amor-mundi/arendt-marx-c53301d57f11 , เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561) 
[2] Assistant Director of the Hannah Arendt Center for Politics and Humanities, and Visiting Assistant Professor of Political Studies at Bard College

วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560

จะรู้ได้อย่างไรว่าคุณมีเสรีภาพที่แท้จริง

จะรู้ได้อย่างไรว่าคุณมีเสรีภาพที่แท้จริง [1]

Philip Pettit[2] พูด
ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี
[3] แปล

        ผมเดาว่าทุกคนในห้องนี้คงคิดเหมือนกันว่าเสรีภาพเป็นอุดมคติ เสรีภาพถูกสร้างขึ้นให้อยู่ในดีเอ็นเอทางวัฒนธรรมของพวกเรา มันถูกสร้างขึ้นให้อยู่ในดีเอ็นเอของความสามารถหยั่งรู้ของมนุษย์ แต่ผมคิดว่าเสรีภาพ-อุดมคติของเสรีภาพ-ได้ถูกยึดกุมมากเกินไปโดยพวกนักเศรษฐศาสตร์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งการเป็นผู้ใช้ตลาดเสรี เศรษฐกิจเสรี กระทั่งโลกเสรี ผมคิดว่านั่นทำให้เสรีภาพกลายเป็นอุดมคติที่อ่อนแอและบางเบาแทนที่จะเป็นอุดมคติอันรุ่มรวยอย่างที่มันเคยเป็น และผมคิดว่ามันสามารถเป็นเช่นนั้นได้อีกครั้งหนึ่ง เป็นอุดมคติที่เราจะนึกถึงเมื่อเราพูดว่าคนๆ หนึ่งเป็นเสรีชนที่แท้จริงหรือไม่ และสังคมหนึ่งๆ เป็นสังคมแห่งเสรีชนหรือไม่

          ผมอยากจะพูดกับพวกคุณเกี่ยวกับวิธีการเพิ่มคุณค่าให้กับแนวคิดเสรีภาพที่กล่าวถึงนี้ และเพื่อจะแนะนำวิธีการดังกล่าว ผมขอกล่าวถึงบทละครเรื่องหนึ่ง ซึ่งพวกคุณหลายคนอาจรู้จัก เป็นบทละครที่น่ามหัศจรรย์ซึ่งเขียนโดย Henrik Ibsen ราว 100 ปีก่อน ชื่อว่า บ้านของตุ๊กตา” (A Doll’s House)  

          และพวกคุณจำนวนหนึ่งที่รู้จักคงจำได้ว่าตัวละครหลักชื่อ Nora หญิงสาวที่แต่งงานกับ Torvald นายธนาคารหนุ่มผู้ร่ำรวย โลกที่ Ibsen กำลังเขียนถึงคือ สแกนดิเนเวีย ราวทศวรรษที่ 1870 ซึ่งเป็นโลกที่ผู้หญิงยังมีสิทธิน้อยมาก Torvald เป็นบุคคลที่มีอำนาจทั้งทางกฎหมายและวัฒนธรรมในความสัมพันธ์ที่เขามีกับ Nora

         สิ่งที่ผมอธิบายมันฟังดูราวกับว่า Nora เป็นผู้หญิงที่ถูกกดขี่รังแก แต่ความจริงแล้ว Torvald เทิดทูน Nora มาก เขาหลงใหลในตัวเธอ และดังนั้นเขาจึงอนุญาตให้เธอทำสิ่งใดก็ได้ตามที่เธอปรารถนา ในสิ่งที่พวกเราคิดว่าเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เธอสามารถแต่งกายในชุดที่เธอปรารถนา เธอสามารถพูดสิ่งที่อยู่ในใจออกไปได้ทุกเมื่อที่เธอต้องการและทุกประเด็นที่เธอสามารถเข้าร่วมกับเพื่อนคนใดก็ได้ที่เธออยากจะคบหาด้วย เธอสามารถไปที่โรงภาพยนตร์หรือไม่ก็ได้ตามใจของเธอ แต่สิ่งเดียวที่ Torvald กำหนดไว้เป็นข้อห้ามต่อ Nora คือเธอไม่ควรกินขนม macaroon แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ Nora เพราะเธอสามารถซ่อนขนมเหล่านั้นไว้ในกระโปรงของเธอได้ ด้วยเหตุนี้ Nora จึงเป็นคนที่มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการทำสิ่งที่เธอต้องการ

          ตอนนี้คำถามที่ผมอยากจะให้คุณได้ลองคิด ก็คือ Nora ถือเป็นเสรีชน/คนที่มีเสรีภาพหรือไม่ ? และผมคิดว่าเธอไม่ใช่เสรีชน

          ขอผมเล่าให้คุณฟังว่าอะไรที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหา และผมหวังว่าคุณจะได้แบ่งปันการหยั่งรู้ไปด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ในขณะที่ Nora ไม่ได้ถูกจำกัดการใช้เสรีภาพ ในขณะที่เธอไม่ได้ถูกแทรกแซงจาก Torvald ในการใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานของเธอ แต่เธอจะมีเสรีภาพเหล่านั้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุญาตจาก Torvald ก่อน เสรีภาพที่เธอมีจึงเป็นเสรีภาพจากความโชคดี มันคือเสรีภาพที่เธอได้รับจากความโชคดีในการมีสามีที่ตามใจเธอในการอยู่ร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ Nora จึงขึ้นอยู่กับความกรุณาและความพึงพอใจของ Torvald เพื่อที่จะสามารถใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานได้

          ผมจึงกล่าวว่า Nora ไม่ใช่เสรีชน เพราะในขณะที่เธอไม่ได้ถูกแทรกแซงในการใช้เสรีภาพ แต่เธอกลับตกอยู่ภายใต้เจตจำนงของ Torvald อย่างสิ้นเชิง แบบเดียวกับเจตจำนงของนายทาส เธอถูกครอบงำ (dominated) ในความหมายนั้น เธอถูกทำให้ตกอยู่ภายใต้เจตจำนงของ Torvald สิ่งที่กำกับควบคุมเธออยู่คือเจตจำนงของเขา เธอสามารถทำในสิ่งที่ปรารถนาหรือต้องการได้ แต่ด้วยเหตุผลเดียวก็คือเพราะเขามีเจตจำนงที่อนุญาตให้เธอทำเช่นนั้นได้ เธอจึงไม่ใช่เสรีชน

          นั่นคือปัญหาที่ว่าทำไมเธอจึงไม่มีสิ่งที่อาจเรียกว่า เสรีภาพที่มั่นคง เธอเพียงแค่มีเสรีภาพจากความโชคดีที่ขึ้นอยู่กับการอนุญาตของสามีให้เธอสามารถมีเสรีภาพเช่นนั้นได้

          ตัวอย่างของ Nora ได้สอนบทเรียนบางอย่างแก่พวกเรา เพราะปัญหาที่ผมบรรยายในตัวอย่างที่กล่าวไป-และเราจะตระหนักได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือเธอไม่ใช่เสรีชนที่แท้จริง-เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนของชีวิตมนุษย์ในสังคมเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เสรีภาพจึงยังคงเป็นอุดมคติที่ท้าทาย

        ตัวอย่างเช่น ปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นในครอบครัว ตราบเท่าที่วัฒนธรรมยังไม่สนับสนุนการมีกฎหมายที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อมอบสิทธิให้กับคู่สามีภรรยาที่จะต่อสู้กับคู่สมรสของเขา โดยเฉพาะสิทธิของผู้หญิงที่จะต่อสู้กับสามีของพวกเธอ

          ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นกับสิทธิในโรงเรียนเช่นกัน เมื่อเด็กสามารถถูกกลั่นแกล้งในชั้นเรียนของเขาได้ถ้าเขาไม่ได้รับการปกป้อง กระทั่งแม้การกลั่นแกล้งจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เด็กคนนั้นก็ถือว่าไม่ได้มีเสรีภาพ

          หรือปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นในที่ทำงาน ถ้านายจ้างมีสิทธิที่จะไล่ลูกจ้างออกตามใจตนเองโดยไม่มีสาเหตุและไม่มีกระบวนการใดๆ และผมคิดว่าลูกจ้างจำนวนมากกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อชีวิตพวกเขาต้องขึ้นอยู่กับความปรารถนาดีของนายจ้างเพื่อที่จะยังได้รับการจ้างงานต่อไป และผมคิดว่าในแง่นั้น พวกเขามีความคล้ายกับสถานการณ์ของ Nora พวกเขาไม่ได้ใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างที่พึงปรารถนา พวกเขาต้องระวังสิ่งที่ตนเองพูด บางทีพวกเขาต้องระวังการเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุน พวกเขาต้องระมัดระวังตนเองเพื่อที่จะทำให้นายจ้างพึงพอใจ นั่นหมายความว่าพวกเขาไร้เสรีภาพเช่นเดียวกับ Nora

          ปัญหานี้เกิดขึ้นเช่นกันกับผู้คนจากวัฒนธรรมอื่นและกลุ่มวัฒนธรรมส่วนน้อยที่รับความเสี่ยงของการถูกล้อเลียนและถูกกลั่นแกล้งในพื้นที่สาธารณะอยู่ตลอดเวลา เมื่อวัฒนธรรมหลักไม่สนับสนุนพวกเขา

          เพื่อที่จะมีเสรีภาพ คุณจำเป็นต้องมีกฎหมายและวัฒนธรรมที่สนับสนุนคุณ ที่สร้างความเข้มแข็งให้คุณ กฎหมายและวัฒนธรรมซึ่งอนุญาตให้คุณมองไปที่ตาของคนอื่นโดยปราศจากเหตุผลของความกลัวหรือความเคารพจำยอม ผมคิดว่านั่นจะทำให้คุณมีสิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพส่วนบุคคล (personal freedom)  เสรีภาพในฐานะปัจเจกบุคคล

         แต่โชคไม่ดีนัก นั่นเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมด เพราะถึงแม้ผมกล่าวว่ากฎหมายและวัฒนธรรมเป็นสิ่งจะทำให้คุณเป็นเสรีชนในการใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่จะดีกว่าถ้าหากกฎหมายและวัฒนธรรมเหล่านั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของคุณอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคมด้วย 

          กฎหมายจะเป็นกฎหมายที่ดีขึ้นถ้ามันเป็นไปในนามของคุณ ในนามของประชาชน ในนามของคุณที่เสมอภาคท่าเทียมกับคนอื่น เมื่อคุณได้มีส่วนร่วมในการควบคุมกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับคนอื่น มิเช่นนั้นคุณก็จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของบุคคลที่เป็นผู้ควบคุมกฎหมายหรือชนชั้นนำที่ควบคุมกฎหมายอยู่ ดังนั้น แม้คุณจะอาศัยอยู่ในประเทศที่มีผู้นำเผด็จการที่สามารถสร้างระบบกฎหมายที่ดีซึ่งสามารถปกป้องปัจเจกชนได้ แต่มันเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วข้ามคืน หากผู้นำเผด็จการเปลี่ยนความต้องการของตนเอง คุณไม่ได้มีเสรีภาพที่มั่นคง ความเข้มแข็งของคุณจะหายไปอีกครั้ง มันขึ้นอยู่กับเจตจำนงของผู้นำเผด็จการ

         เช่นเดียวกันหากชนชั้นนำสามารถควบคุมรัฐบาลได้ ตัวอย่างเช่น หากชนชั้นนำทางการเงินสามารถกำหนดนโยบายทางสังคมได้อย่างแท้จริง เช่นนั้นแล้วชีวิตของทุกคนในสังคมก็จะขึ้นอยู่กับชนชั้นนำกลุ่มนั้น    

          เช่นเดียวกันกับกรณีของรัฐบาลอาณานิคม ตัวอย่างคือกรณีของสหรัฐอเมริกาในปี 1766 หากคุณจำได้ เมื่อรัฐสภาเวสมินเตอร์ของสหราชอาณาจักรถอนกฎหมายที่เรียกว่าพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ (Stamp Act) เพราะการประท้วงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา นั่นอาจพูดได้ว่าสหราชอาณาจักรใจดีต่อผู้ใต้อาณานิคมของตนเอง แต่ในการถอดถอนกฎหมายดังกล่าวออกมานั้น พวกเขาได้ออกกฎหมายที่เรียกว่า Declaratory Act ซึ่งระบุว่าในขณะที่ได้ถอนกฎหมายภาษีอากรแสตมป์ออกมา แต่สหราชอาณาจักรยังคงมีสิทธิและอำนาจที่จะเก็บภาษีชาวอเมริกันผู้อยู่ใต้อาณานิคมได้ตามที่สหราชอาณาจักรต้องการ  และนั้นคือแก่นสำคัญของความไม่พอใจของชาวอเมริกันที่เกิดขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1760 นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐสภาเวสมินเตอร์ของสหราชอาณาจักรจึงเป็นเจ้านายที่ใจดี เช่นเดียวกับที่ Torvald ใจดีกับ Nora นั่นยังคงเป็นข้ออ้างของสถานะความเป็นนาย และหากคุณตกอยู่ภายใต้เจตจำนงของคนอื่นหรือในกรณีนี้คือเจตจำนงของประเทศอื่น

          คุณไม่สามารถมีเสรีภาพได้เ นื่องจากกฎหมายซึ่งมอบเสรีภาพส่วนบุคคลให้คุณเองก็ยังไม่เข้มแข็งพอเพราะตัวกฎหมายเองก็ดันไปขึ้นอยู่กับเจตจำนงของตัวแสดงอื่นที่แปลกแยกจากตัวคุณ ในกรณีนี้คือรัฐสภาของประเทศอื่น

          ด้วยเหตุนี้เพื่อที่จะมีเสรีภาพที่มั่นคงเข้มแข็ง เราจำเป็นต้องมีเสรีภาพในความหมายที่สอง นั่นคือ เสรีภาพสาธารณะ (Public Freedom) เราจำเป็นต้องมีระบบซึ่งประชาชนสามารถควบคุมกฎหมายที่มอบเสรีภาพส่วนบุคคลให้แก่เราอย่างที่ผมพูดไปในตอนแรก

          แล้วเราจะสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร? แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องมีประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องสงสัย แต่เราต้องการอะไรที่มากกว่านั้นเช่นกัน เราต้องการอย่างน้อยอีกสามสิ่งที่มากไปกว่านั้น

          ประการแรก เราต้องการสถานการณ์ที่คนกลุ่มน้อย ทั้งคนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ คนกลุ่มน้อยทางศาสนา ได้รับการปกป้องจากการคุกคามของเจตจำนงของเสียงส่วนใหญ่หรือวัฒนธรรมของเสียงส่วนใหญ่ ตัวอย่างคือกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจ ถ้าเรามีสถานการณ์ที่ทุกภาคส่วนย่อยของสังคม ทั้งชนกลุ่มน้อยหรือคนแอฟริกันอเมริกัน มีความรู้สึกว่าตำรวจไม่ได้ปกป้องพวกเขาเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น หรือกระทั่งมองตำรวจเป็นภัยคุกคามต่อชุมชนของพวกเขา นั่นย่อมเป็นปัญหาอย่างแท้จริง นั่นหมายความว่าจากมุมมองของคนกลุ่มน้อย เขาเห็นว่าคนส่วนใหญ่กำลังกำหนดพฤติกรรมของรัฐบาล และนั่นหมายความว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการควบคุมกฎหมายที่ควรจะปกป้องพวกเขาอย่างเท่าเทียม

          สิ่งที่เราต้องการประการที่สอง นอกเหนือจากการปกป้องคนกลุ่มน้อย คือการปกป้องเสียงส่วนใหญ่ ในกรณีนี้คือการปกป้องเสียงส่วนใหญ่จากกลุ่มชนชั้นนำในประเทศของเรา โดยเฉพาะชนชั้นนำทางการเงินที่ควบคุมสิ่งที่รัฐบาลทำ นั่นเพราะ ถ้าหากชนชั้นนำเหล่านั้นสามารถกำหนดความเป็นไปต่อนโยบายของรัฐบาลเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของบริษัท การเงิน และผลประโยชน์ของพวกเขา ทั้งต่อนโยบายการเก็บภาษีและในกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภาวะแบบนั้นแปลว่าพวกเราที่เหลือทั้งหมดไม่ได้มีส่วนร่วมในการควบคุมกฎหมายอย่างเท่าเทียม ดังนั้นเราจึงต้องการเครื่องมือที่จะใช้ควบคุมอิทธิพลของชนชั้นนำทางการเงินในปัจจุบันที่มีเหนือรัฐบาล

          และสิ่งที่เราต้องการประการสุดท้าย คือระบอบประชาธิปไตยที่มีการโต้เถียงท้าทายได้ ไม่ใช่แค่การปกป้องคนกลุ่มน้อยจากเสียงส่วนใหญ่ หรือปกป้องเสียงส่วนใหญ่จากเสียงส่วนน้อย แต่ยังรวมไปถึงการรับประกันว่าพวกเราในฐานะปัจเจกบุคคลทั้งหลายสามารถท้าทายสิ่งที่รัฐบาลกำลังเสนอและลงมือปฏิบัติอยู่ได้ นี่เป็นสิ่งที่เรามักทำได้สำเร็จผ่านกลุ่มองค์กรนอกภาครัฐ (NGOs) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของชีวิตพลเมืองในการติดตามตรวจสอบและสอดส่องรัฐบาล ราคาของเสรีภาพที่คนมักพูดถึงกันคือการความระมัดระวังอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  นี่คือสิ่งที่เราต้องการในตอนนี้

          และเรามีหลายองค์ประกอบของประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ว่าระบอบประชาธิปไตยที่นี่และที่อื่นจะมีทุกองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับการสร้างกฎหมายในนามของประชาชน เพื่อที่เราทุกคนจะได้ใช้เสรีภาพสาธารณะตลอดจนเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างเต็มที่ เราจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งในพื้นที่ของเสรีภาพทั้งสองส่วน

          ผมขอกล่าวว่าในส่วนของเสรีภาพส่วนบุคคล ตัวทดสอบที่ดีว่าคุณมีเสรีภาพหรือไม่ คือการที่คุณสามารถมองเข้าไปยังดวงตาของผู้อื่นโดยปราศจากเหตุผลของความกลัวและความเคารพยำเกรง นอกจากนี้ยังมีตัวทดสอบที่ดีสำหรับจะดูว่าเรามีเสรีภาพสาธารณะหรือไม่ เพื่อดูว่าเราในฐานะประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมในการควบคุมกฎหมายที่มีไว้ปกป้องพวกเราในชีวิตส่วนตัวหรือไม่ สิ่งที่ตามมาก็คือ เมื่อใดก็ตามที่มีระบบกฎหมาย หรือมีรัฐบาล มันจะต้องมีการผ่านกฎหมายที่มักสร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนหนึ่งเสมอ ไม่ใช่ว่ากฎหมายทุกฉบับจะสามารถทำให้คนทุกคนพึงพอใจได้ และดังนั้นตัวทดสอบที่ดีคือการดูว่า เรารู้สึกว่ากำลังอาศัยอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมโดยปราศจากองค์ประกอบสามข้อที่ผมได้กล่าวถึงไปหรือไม่ หรือเมื่อเกิดการตัดสินใจบางอย่างขึ้นที่ส่งผลเสียต่อเรา ตัวเรารู้สึกว่า โอ้ เราแพ้อีกแล้ว เราเป็นคนส่วนน้อยของสังคม รัฐบาลทำร้ายเราอยู่เสมอ มันคือเจตจำนงของชนชั้นนำหรืออะไรก็ตามที่สร้างผลกระทบต่อพวกเราหรือถ้าเราคิดว่า มันคือไม่ดี แต่มันคือระบบที่เป็นธรรมแล้ว มันคือระบบที่พวกเราทุกคนควบคุมอย่างเท่าเทียม มันแค่เป็นโชคร้ายที่กฎหมายไม่เป็นที่พึงพอใจของพวกเราถ้าเราสามารถคิดได้ว่ามันเป็นเพียงโชคไม่ดี นั่นแปลว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่เราเชื่อมั่นว่าพวกเราในฐานะประชาชนได้มีส่วนร่วมในการควบคุมกฎหมายอย่างเท่าเทียม

          เสรีภาพส่วนบุคคล หมายถึง เสรีภาพภายใต้กฎหมาย เสรีภาพต่อหน้ากฎหมายและถูกปกป้องโดยกฎหมาย ในระบบวัฒนธรรมที่สนับสนุนการใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานของเรา

          เสรีภาพสาธารณะ อย่างที่ผมได้พูดไว้ หมายถึง หมายถึงเสรีภาพเหนือกฎหมาย มันหมายถึงการควบคุมกฎหมาย  ว่าพวกเราในฐานะประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างกฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

          ความคิดที่ว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีเสรีภาพ ในพื้นที่ของเสรีภาพส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับแนวคิดที่ผิดพลาดแบบพวกอิสระนิยม (libertarian fallacy) เป็นมายาคติของความคิดที่ว่ามีแต่ระบบตลาดเท่านั้นทีทำให้เรามีเสรีภาพได้ และมองว่ารัฐบาลกับกฎหมายเป็นสิ่งที่รุกล้ำก้าวก่ายเสรีภาพอยู่เสมอ ตรงกันข้าม ถ้าคุณเริ่มต้นจากกรณีตัวอย่างของ Nora และคุณได้คิดเกี่ยวกับคำถามที่ว่าอะไรคือการเป็นเสรีชน คุณจะตระหนักว่ากฎหมายเป็นสาระสำคัญที่ทำให้เรามีเสรีภาพ กฎหมายไม่ใช่ศัตรูของเสรีภาพ มันคือมิตรของเสรีภาพ และในอีกด้านหนึ่ง คือ เสรีภาพสาธารณะ มันมีมายาคติของพวกอิสระนิยม เป็นข้อสังเกตที่ผิดพลาดของพวกอิสระนิยมที่ไม่ตระหนักว่าระบอบประชาธิปไตยสำคัญเช่นไร

          ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน ที่ได้สวมกอดรับเอาแนวคิดแบบอิสระนิยมซึ่งสนับสนุนการมีเสรีภาพของตลาดไปใช้ โดยละเลยข้อเท็จจริงว่ามันคือระบบที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการควบคุม 

       มันเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องขจัดมายาคติของพวกลัทธิอิสระนิยมออกไป และตระหนักว่าเสรีภาพเป็นสิ่งที่รุ่มรวยและเผ็ดร้อน และเป็นสิ่งที่ยังต้องการให้พวกเราทำงานต่อไปเพื่อให้ได้มันมา ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและในพื้นที่สาธารณะ

          ขอบคุณครับ  
         
         
             
         
         




[1] แปลมาจาก TEDxNewYork หัวข้อ How do you know if you are truly free?  ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=1rTEOU67zCo เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ..2560
[2] นักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองชาวไอริช ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU)  
[3] ปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

มองเรื่องชนชั้นจากศตวรรษที่ 21


           สำหรับต้นศตวรรษที่ 21 การพูดถึงการต่อสู้ทางชนชั้นหรือการเมืองเรื่องชนชั้น ดูจะเป็นอะไรที่ออกจะประหลาดอยู่ไม่น้อยในสายตาของผู้คนทั่วไป ยิ่งเมื่อสิ่งที่เรียกว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ (new social movement) ปรากฏตัวขึ้นในฐานะการต่อสู้ที่ก้าวข้ามเรื่องของชนชั้น โดยหันไปให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาเฉพาะที่ตัดข้ามเส้นแบ่งระหว่างชนชั้นต่างๆ อย่างเช่นปัญหาเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ก็ยิ่งทำให้การทำความเข้าใจเรื่องชนชั้นดูจะสำคัญน้อยลง

แต่ทั้งหมดนี้มันแปลว่ามิติทางชนชั้นได้หายไปจากโลกในปัจจุบันแล้วหรือเปล่า?

หากจะมีใครสักคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปที่ว่าชนชั้นหมดความสำคัญลงแล้วในปัจจุบัน ศาสตราจารย์ Göran Therborn นักสังคมวิทยาแนวมาร์กซิสต์จากมหาวิทยาลัย Cambridge คงเป็นผู้หนึ่งที่คัดค้านข้อสรุปดังกล่าวอย่างแข็งขัน

Therborn เป็นนักวิชาการคนสำคัญที่พยายามนำเสนอบทวิเคราะห์ต่อปัญหาความเปลี่ยนแปลงเรื่องชนชั้นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 มาจนถึงต้นศตวรรษที่ 21 อย่างเป็นระบบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเมืองเรื่องชนชั้นยังคงมีความสำคัญอยู่แม้ในช่วงเวลาที่มันได้รับความสนใจน้อยลง 

          ในบทความว่าด้วยเรื่องชนชั้นในศตวรรษที่ 21 (Class in The 21st Century) เขาเสนอว่าถ้าหากชนชั้นที่เป็นตัวแสดงหลักของศตวรรษที่ 20 คือชนชั้นแรงงานกรรมกร (Working Class) ชนชั้นที่เป็นตัวแสดงหลักในศตวรรษที่ 21 นี้ก็คือชนชั้นกลางระดับโลก (Global Middle Class) นั่นเอง

          คำถามคือทำไมชนชั้นแรงงานจึงพ่ายแพ้หรือหมดความสำคัญลงไปจากศตวรรษที่แล้ว

         Therborn อธิบายว่าสาเหตุหลักของความพ่ายแพ้ของชนชั้นแรงงานในศตวรรษที่ 20 มีอยู่ 2 ประการ ประการแรก กระบวนการแปลงทุกสิ่งให้เป็นเรื่องทางการเงิน (Financialization) ซึ่งเป็นฐานของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ได้ทำให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นจนไปยับยั้งกระบวนการความขัดแย้งแบบวิภาษวิธีหลักแบบมาร์กเซียน (Marxian Grand Dialectic) ซึ่งพูดถึงความขัดแย้งระหว่างพลังการผลิตที่มีลักษณะเป็นส่วนรวมและเข้าถึงได้ในสังคมวงกว้างมากขึ้นกับความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ถูกทำให้กลายเป็นของเอกชนและจำกัดอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กลงเรื่อยๆ ดังนั้น การปฏิวัติจึงไม่เกิดขึ้นตามคำทำนายของมาร์กซ์เนื่องจากกระบวนการวิภาษวิธีดังกล่าวสะดุดหยุดลง  

ประการที่สอง เพราะการลดลงของกิจกรรมและศักยภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม (De-industrialization) ในประเทศพัฒนาแล้วได้เข้าไปขัดขวางความขัดแย้งระหว่างกรรมกรกับนายทุนที่เคยมีมานาน เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวทำให้ชนชั้นกรรมกรในประเทศอุตสาหกรรมเดิมอ่อนแอลงและหมดอำนาจต่อรอง เนื่องจากนายทุนต้องย้ายโรงงานไปยังพื้นที่ชายขอบหรือประเทศกำลังพัฒนา เพื่อแสวงหาพื้นที่ของแรงงานและแหล่งทรัพยากรราคาถูกใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

         แต่ถึงการปฏิวัติของชนชั้นแรงงานจะพ่ายแพ้ไปในศตวรรษที่ 20 กระนั้น Therborn ก็ยังมองโลกในแง่ดีว่าอย่างน้อยขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติของชนชั้นแรงงานในช่วงเวลาดังกล่าวได้ทิ้งมรดกที่สำคัญๆ เอาไว้อยู่ 4 ประการด้วยกัน

ประการแรกคือเป็นตัวกระตุ้นให้โลกทุนนิยมยอมปฏิรูปตัวเองจากภายในระบบ เช่น การกระจายที่ดินหรือการพัฒนาสิทธิทางสังคมขั้นพื้นฐานต่างๆ ประการที่สองคือ เป็นตัวช่วยลดพลังของลัทธิเหยียดเชื้อชาติและลัทธิล่าอาณานิคมของทวีปยุโรปและอเมริกันให้น้อยลง ประการที่สามคือ มันได้สร้างเหล่านักสู้แห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ยอมสู้ตายขนาดเสียสละชีวิตตนเองขึ้นมาเป็นจำนวนมากทั่วทุกมุมโลก และประการสุดท้ายคือ มันช่วยสร้างความหลากหลายทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วยการทำให้โลกของการเมืองระหว่างประเทศมีหลายขั้วอำนาจ ที่ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่ยังรวมถึงประเทศจีนและรัสเซีย (สหภาพโซเวียตในเวลาดังกล่าว)

  เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ความสำคัญของชนชั้นกลางปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ Therborn ชี้ให้เห็นความยุ่งยากในการนิยามความหมายว่าอะไรคือชนชั้นกลางกันแน่ นิยาม 3 แบบที่เขายกมาเป็นตัวอย่างในบทความมีความแตกต่างกันในเรื่องของจำนวนรายได้ที่ควรจะได้รับต่อวันเพื่อจะถูกนับว่าเป็นสมาชิกของชนชั้นกลาง แต่ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นชนชั้นกลางคือการมีหน้าที่การงานที่มั่นคงและได้รับค่าแรงอย่างสม่ำเสมอ

            Therborn อธิบายถึงความสำคัญของชนชั้นกลางในศตวรรษที่ 21 โดยการวิเคราะห์ใน 2 มิติ คือการมองชนชั้นกลางในฐานะชนชั้นของผู้บริโภค และความสัมพันธ์ของชนชั้นกลางต่อระบอบประชาธิปไตย

           การมองชนชั้นกลางในฐานะชนชั้นของผู้บริโภค คือการชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมบริโภคนิยมในปัจจุบันเป็นผลมาจากการที่โลกถูกทำให้ยอมรับรสนิยมในการบริโภคแบบชนชั้นกลาง และยิ่งไปกว่านั้น ชนชั้นกลางยังทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างชนชั้นคนรวยกับคนจน โดยในด้านหนึ่งก็คือการทำให้สังคมยอมรับการบริโภคแบบอภิสิทธิ์ของคนรวย ในขณะที่คนจนก็ได้รับแรงบันดาลใจที่อยากจะบริโภคแบบเดียวกับชนชั้นกลาง

          ประการที่สอง ชนชั้นกลางถูกนำไปเชื่อมโยงกับการพัฒนาประชาธิปไตย โดยที่สื่อมวลชนสายเสรีนิยมมักจะมองการเติบโตและรุ่งเรืองขึ้นของชนชั้นกลางว่าเป็นแนวหน้าของการปฏิรูประบอบประชาธิปไตย

          Therborn ยกกรณีอียิปต์ว่าเป็นตัวอย่างของการปฏิวัติโดยชนชั้นกลางที่ก้าวหน้าของศตวรรษที่ 21 แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ชี้ว่าชนชั้นกลางมีลักษณะที่ เปลี่ยนไปตามสถานการณ์” (situationally) ดังนั้นชนชั้นกลางจึงเป็นพันธมิตรที่ไว้ใจไม่ได้ของทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายเผด็จการ ในบางช่วงเวลาก็เป็นแนวหน้าในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ในบางเวลาก็สามารถเป็นแนวหน้าในการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้เช่นเดียวกัน

         Therborn ยังเปรียบเทียบความไม่เสมอภาคในความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกับชาติระหว่างศตวรรษที่ 20 และ 21 ใน 2 มิติ คือความไม่เสมอภาคระหว่างชนชั้นต่างๆ ภายในชาติ และความไม่เสมอภาคระหว่างชาติต่างๆ  

เขาเสนอว่า ในศตวรรษที่ 20 ความไม่เสมอภาคระหว่างชนชั้นต่างๆ ภายในชาติมีช่องว่างที่ลดลงอันเนื่องมาจากการต่อสู้เคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน นำไปสู่การสร้างรัฐสวัสดิการในหลายที่ แต่มิติของความไม่เสมอภาคระหว่างชาติต่างๆ กลับเพิ่มมากยิ่งขึ้น อันเป็นผลมาจากลัทธิล่าอาณานิคม

แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 สถานการณ์ได้กลับตาลปัตร ความไม่เสมอภาคระหว่างชนชั้นต่างๆ ภายในชาติมีช่องว่างเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการพังทลายของรัฐสวัสดิการภายใต้กระแสของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ในขณะที่ความไม่เสมอภาคระหว่างชาติต่างๆ กลับลดลงอัน เนื่องมาจากการให้ความช่วยเหลือและนโยบายการพัฒนาในระดับระหว่างประเทศ

          ในบทสรุป Therborn เสนอให้มีการนิยามชนชั้นเสียใหม่โดยชวนให้เราคิดถึงชนชั้นใหม่ที่เรียกว่า Plebeian หรืออาจแปลได้ว่า ชนชั้นสามัญชน

          Plebeian เป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของกลุ่มคนที่มาจากหลายกลุ่มหลายชนชั้นทางสังคม ตั้งแต่คนจนเมือง ชนพื้นเมืองกลุ่มน้อยต่างๆ และกลุ่มชนชั้นกลางหัวก้าวหน้า การนิยามชนชั้นแบบใหม่นี้เป็นการมองชนชั้นเป็นเข็มทิศในลักษณะหลวมๆ ที่กลุ่มคนซึ่งถูกกดขี่ ถูกขูดรีด และสูญเสียผลประโยชน์จากกลุ่มต่างๆ สามารถมารวมตัวกันภายใต้เป้าหมายเพื่อการต่อสู้ในทิศทางเดียวกัน

การนิยามชนชั้นแบบนี้เป็นการนิยามในเชิงอัตวิสัยที่เอาความรู้สึกถูกกดขี่ของคนกลุ่มต่างๆ เป็นตัวตั้ง ซึ่งแตกต่างจากการนิยามชนชั้นแบบภววิสัยของ Marx ที่กำหนดว่าคนคนหนึ่งอยู่ในชนชั้นไหนโดยดูจากตำแหน่งแห่งที่ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่คนคนนั้นอาศัยอยู่  

        Therborn ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับเขาแล้ว ถ้าหากภูมิรัฐศาสตร์เก่าของศตวรรษที่ 20 คือทวีปยุโรป ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ที่อาจเอื้อต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยฝ่ายซ้ายในศตวรรษที่ 21 อาจอยู่ในทวีปเอเชียนั่นเอง  
           
ที่มา: GÖRAN THERBORN. New Left Review 78, November-December 2012.  https://newleftreview.org/II/78/goran-therborn-class-in-the-21st-century



                 

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

ความหลากหลายของประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับยุครู้แจ้ง


ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี แปลและเรียบเรียง



ไม่มียุคสมัยใดในทางประวัติศาสตร์ที่จะถูกนำมาวิเคราะห์ ถกเถียง ได้รับการเฉลิมฉลอง รำลึกถึง และโดนโจมตีอย่างหนักหน่วงมากเท่ากับยุครู้แจ้งหรือยุคภูมิธรรม (the Enlightenment) อีกแล้ว

ยุครู้แจ้งแตกต่างจากยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือยุคสมัยแห่งการปฏฺิรูปศาสนา ตรงที่มันไม่ได้เป็นเพียงช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับโลกร่วมสมัยเผยแสดงตัวออกมา

ตั้งแต่บทบาทของวิทยาศาสตร์ ถึงสงครามต่อต้านการก่อการร้าย จากเรื่องเสรีภาพในการพูด จนถึงการเหยียดเชื้อชาติ เราจะพบว่ามันมีข้อถกเถียงร่วมสมัยน้อยเรื่องมากที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับยุครู้แจ้ง

จินตนาการที่เรามีเกี่ยวกับยุครู้แจ้งจึงกลายเป็นสมรภูมิทางปัญญาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับยุครู้แจ้งถูกท้าทายและโต้แย้งจากผู้เกี่ยวข้องพอๆ กับตัวเนื้อหาของยุครู้แจ้งเอง

คำถามยุครู้แจ้งว่าคืออะไร มีจุดเริ่มต้นและมีพัฒนาการมาอย่างไร เริ่มถูกเขียนและถ่ายทอดโดยเหล่านักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาหลายต่อหลายคน เพื่อจะตอบคำถามที่ว่า "อะไรคือยุครู้แจ้ง" (What is Enlightenment?)




                Immanuel Kant
                     และงาน 
Answering the Question: What is Enlightenment?



Immanuel Kant หนึ่งในนักปรัชญาเยอรมันคนสำคัญที่สุดของขบวนการยุครู้แจ้งตอบคำถามดังกล่าวว่ายุครู้แจ้งคือ “การหลุดพ้นจากความอ่อนด้อยทางปัญญาความคิด”

สำหรับ Kant, Voltaire, Hume และ Diderot แล้ว ความสำคัญของยุครู้แจ้งคือการชำระล้างจิตใจของชาวยุโรปให้พ้นมลทินจากไสยศาสตร์มืดแห่งยุคกลาง และยังช่วยเปิดทางให้แสงสว่างแห่งการใช้เหตุผลสามารถสาดส่องลงไปเพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ได้โดยตรง

นักประวัติศาสตร์ในยุคหลังหลายต่อหลายคนพยายามที่จะเขียนงานขึ้นเพื่อพัฒนาข้อถกเถียงเกี่ยวกับยุคสมัยดังกล่าวต่อไป เช่น คนอย่าง Ernst Cassirer ในงานศึกษาสุดคลาสสิคของเขาซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 1932 ที่ชื่อ The Philosophy of the Enlightenment ก็เป็นหนึ่งในงานชิ้นสำคัญที่มีอิทธิพลในกระแสดังกล่าว





Ernst Cassirer และหนังสือThe Philosophy of the Enlightenment 


ยุครู้แจ้งในความเข้าใจของ Cassirer คล้ายคลึงกับยุครู้แจ้งของ Kant กล่าวคือเป็นยุคที่โดยเนื้อหาแล้วเป็นโครงการทางภูมิปัญญา (intellectual project) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้จิตวิญญาณของมนุษย์สามารถบรรลุถึง "ความกระจ่างชัดและความลุ่มลึกในการทำความเข้าใจธรรมชาติและโชคชะตาของตนเอง รวมทั้งของคุณลักษณะและภารกิจหลักของพวกเขา"

แต่ในยุคสมัยหลัง ทัศนะของงานเขียนจำนวนมากที่อธิบายยุครู้แจ้งว่าเป็นขบวนการทางภูมิปัญญาที่มีความเชื่อมโยงและเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจในภาคพืันยุโรปโดยทั่วไปอย่างเป็นวงกว้าง  เริ่มถูกท้าทายและโต้แย้งจากนักคิดหลายต่อหลายคน

นักประวัติศาสตร์บางคนเริ่มสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับยุครู้แจ้งโดยวางอยู่บนของขอบเขตแบบชาติ มากกว่าจะอธิบายโดยอยู่บนฐานของยุโรปทั้งภาคพื้นทวีป เช่น  The French Enlightenment, the German Enlightenment และ the Scottish Enlightenment ซึ่งเชื่อว่าสามารถถูกอธิบายแยกออกมาจากแง่มุมของตนเองและสามารถทำให้เห็นความแตกต่างในรายละเอียดได้

นักประวัติศาสตร์บางคนเริ่มจะเน้นย้ำให้เห็นถึงแง่มุมของพลวัตทางสังคมและวัฒนธรรมของยุครู้แจ้ง ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของนักคิดปัญญาชนกลุ่มเล็กๆเท่านั้น แต่มองว่ายุครู้แจ้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการของมนุษย์เดินดินทั่วๆไปมากกว่าจะมองว่ามันเป็นความคิดอันสูงส่งซึ่งเกิดขึ้นมาจากนักคิดไม่กี่คนหรือตำราเพียงไม่กี่เล่ม

ตัวอย่างเช่นงานของ  Robert Darnton นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและสิ่งพิมพ์ก็ถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่พยายามอภิปรายว่า "เราควรตั้งคำถามต่อการให้ความสำคัญกับผู้มีปัญญาและการให้ความสำคัญต่อมุมมองแบบอภิปรัชญาเกี่ยวกับชีวิตของปัญญาชนในศตวรรษที่สิบแปดมากเกินไป"

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพยายามท้าทายและโต้แย้งมุมมองที่อธิบายยุครู้แจ้งว่าเป็นสิ่งที่ดีแต่เพียงด้านเดียว  โดยเฉพาะงานชิ้นสำคัญที่ชื่อ  Dialectic of Enlightenment ของสองนักปรัชญาผู้ร่วมก่อตั้งสำนัก Frankfurt School อย่าง Theodor Adorno และ Max Horkheimer ที่เขียนงานชิ้นดังกล่าวขึ้นเพื่อตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดประเทศอย่างเยอรมนีซึ่งเป็นชาติที่มีรากฐานทางภูมิปัญญาและปรัชญาแบบยุครู้แจ้งอันลุ่มลึกมากจึงสามารถนำไปสู่การเกิดขึ้นของระบอบนาซีอันเลวร้ายได้


Max Horkheimer และ Theodor Adorno 




คำตอบของทั้งคู่ดูจะวางอยู่บนเรื่องธรรมชาติของลัทธิเหตุผลนิยมแบบยุครู้แจ้ง (Enlightenment Rationalism)  โดย Adorno และ Horkheimer ไม่ได้ปฏฺิเสธและต่อต้านยุครู้แจ้งไปเสียทั้งหมด แต่พวกเขามองว่ายุครู้แจ้งไม่ได้มีแค่แง่มุมของด้านแสงสว่างที่เปิดทางไปสู่การปลดปล่อยมนุษย์อย่างที่เราเคยเชื่อกัน แต่มันยังมีแง่มุมของการนำไปสู่ความมืดมิดแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ด้วย

ซึ่งในช่วงทศวรรษหลังๆ ก็มีการนำความคิดแบบนี้ไปพัฒนาต่อยอดโดยนักคิดสายหลังสมัยใหม่และหลังอาณานิคม ซึ่งได้ทำให้ความมีเหตุมีผลและความเป็นสากลนิยมแบบยุครู้แจ้งที่เคยถูกมองมาว่าเป็นเสาหลักของความคิดก้าวหน้ามาอย่างยาวนาน ณ ตอนนี้กลับถูกนักคิดหลายคนมองว่ามันเป็นการเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง กระทั่งเป็นเรื่องของการเหยียดชาติพันธุ์

ในท่ามกลางความแตกต่างและไม่ลงรอยกันของภูมิทัศน์การศึกษาเกี่ยวกับยุครู้แจ้ง งานอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญและถือเป็นหมุดหมายใหม่ของการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับยุครู้แจ้ง ก็คืองานของคนอย่าง Jonathan Israel ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ และเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ Spanish และ Dutch เป็นการเฉพาะ

งานไตรภาค 3 ชิ้นสำคัญของ Israel ที่เริ่มตีพิมพ์ขึ้นมาเมื่อสิบกว่าปีก่อน เป็นชุดของหนังสือที่เกี่ยวข้องกับยุครู้แจ้งโดยตรง อันประกอบไปด้วย  1) Radical Enlightenment 2) Enlightenment Contested และ 3) Democratic Enlightenment  โดยหนังสือชุดนี้ของเขาถือเป็นงานที่พยายามจะจัดวางข้อถกเถียงเกี่ยวกับคุณลักษณะของยุครู้แจ้งและความหมายของตัวมันที่มีต่อโลกสมัยใหม่ในแบบที่ต่างออกไป


Jonathan Israel และหนังสือชุดของเขา 






ในบรรดาข้อมูลจำนวนมหาศาลจากที่มาหลากหลายภาษา จำนวนหน้ากระดาษนับพัน และจำนวนตัวหนังสือนับล้านจากงานทั้งสามเล่มของเขา สิ่งที่ Israel พยายามทำคือนำเสนอโครงสร้างการทำความเข้าใจเกี่ยวกับยุครู้แจ้งเสียใหม่

เช่นเดียวกับนักคิดหลายคนที่มาก่อนหน้าเขา Israel ยกย่องชื่นชมยุครู้แจ้งว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง (transformative period) ซึ่งยุโรปได้ขยับเปลี่ยนตนเองจากรูปแบบทางวัฒนธรรมที่วางอยู่บนแก่นของการมีศรัทธา จารีตประเพณีและสิทธิอำนาจบางอย่างร่วมกัน  ไปสู่รากฐานแบบใหม่ที่มองว่าทุกสิ่งทุกอย่าง-ไม่สำคัญว่าลึกซึ้งหรือรากฐานขนาดไหน-ล้วนสามารถถูกตั้งคำถามได้ภายใต้แสงสว่างของเหตุผลในเชิงปรัชญา และยังมองว่าเป็นยุครู้แจ้งเป็นยุคสมัยที่อำนาจนำของเทววิทยาในยุคเก่าถูกโค่นล้มลงไป

แต่ข้อแตกต่างสำคัญซึ่งเป็นหัวใจของข้อถกเถียงในงานของ Israel ก็คือเขาเสนอว่ายุคสมัยที่เรียกว่ายุครู้แจ้งนั้นไม่ได้มีอยู่สายเดียวและเป็นเอกภาพกันอย่างที่นักคิดก่อนหน้าเขาอธิบาย แต่เขาเสนอว่ายุครู้แจ้งมีอยู่ 2 แบบ/ลักษณะ/ขบวนการ( there were two Enlightenments) ด้วยกัน

ยุครู้แจ้งแบบกระแสหลัก (mainstream enlightenment ) คือยุครู้แจ้งแบบของ Kant, Locke, Voltaire และ Hume ซึ่งเป็นกลุ่มนักคิดที่ได้นำเสนอหน้าตาแบบสาธารณะ/กระแสหลักให้กับยุครู้แจ้ง ดังที่คนทั่วไปรู้จักและนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ได้เขียนถึง

แต่ Israel เสนอว่ามันยังมีขบวนการของยุครู้แจ้งอีกหนึ่งกระแสซึ่งไม่ใช่กระแสหลัก แต่เขาเรียกว่ามันคือ Radical Enlightenment หรืออาจจะแปลได้ว่าเป็นยุครู้แจ้งแบบถอนรากถอนโคน ซึ่งถูกสร้างและได้รับอิทธิพลโดยนักคิดหลายคนซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก แต่คนหล่านี้ถือเป็นกลุ่มคนที่สร้างและจัดวางหัวใจรวมทั้งจิตวิญญาณให้แก่ยุครู้แจ้งเลยทีเดียวในความเห็นของ Israel เช่น คนอย่าง d’Holbach, Diderot, Condorcet เป็นต้น แต่ในบรรดาทั้งหมดนั้น คนที่ Israel ให้ความสำคัญมากที่สุดดูจะเป็น นักปรัชญาชาวดัสต์อย่าง Baruch Spinoza นั่นเอง


Baruch Spinoza




Israel เสนอว่ายุครู้แจ้งทั้งสองแบบถูกแบ่งแยกออกจากกันบนคำถามที่ว่า "เหตุผลถือเป็นสิ่งที่มีอำนาจมากที่สุดในกิจการของมนุษย์ใช่หรือไม่"  

ถ้าเป็นพวกยุครู้แจ้งแบบกระแสหลักก็จะตอบคำถามดังกล่าวว่า แม้เหตุผลจะมีความสำคัญในชีวิตของมนุษย์ แต่เหตุผลก็ต้องมีพื้นที่ซึ่งถูกจำกัดอยู่โดยศรัทธาและจารีตประเพณีอยู่เช่นกัน Israel เห็นว่า พวกกระแสหลักได้จำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อรูปแบบทางสังคมและความเชื่อแบบเก่าเอาไว้อย่างมีขอบเขต

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่เรียกว่าพวกยุครู้แจ้งแบบถอนรากถอนโคน (The  Radical Enlightenment) กลับยืนยันที่จะปฏิเสธการประณีประนอมกับมรดกจากอดีตทุกรูปแบบ และพยายามหาหนทางที่จะกวาดล้างโครงสร้างเก่าที่ดำรงอยู่ออกไปให้หมดสิ้น เพราะพวกเขายืนยันความคิดที่ว่า 'เหตุผล' คือสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดในการกำหนดกิจการของชีวิตมนุษย์ ซึ่งไม่อาจถูกจำกัดได้โดยความเชื่อ ศรัทธา และจารีตประเพณีใดๆ

ในความเห็นของ Israel สิ่งที่เขาเรียกรวมๆว่า "ชุดของคุณค่าพื้นฐาน" ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้นิยามความเป็นสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ความอดทนอดกลั้น เสรีภาพส่วนบุคคล ประชาธิปไตย ความเสมอภาคทางเชื้อชาติ การปลดปล่อยทางเพศ และสิทธิสากลที่มีต่อความรู้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ได้รับมาจากข้อเสนอของกลุ่ม Radical Enlightenment ในทางหลักการทั้งสิ้น

ทั้งหมดที่เล่ามานี้เพื่อจะทำให้เห็นว่าการเขียนและตีความที่นักวิชาการมีต่อ 'ยุครู้แจ้ง' มีได้หลายมุมมองและหลายวิธีการ การเหมารวมว่า 'ยุครู้แจ้ง' เป็นขบวนการที่เป็นเอกภาพ หรือเป็นยุคสมัยที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อมนุษยชาติเท่านั้นจึงเป็นข้อสรุปที่เร็วเกินไป



[แปลและเรียบเรียงจาก Kenan Malik. 'Seeing reason: Jonathan Israel's radical vision.']

ขอบคุณรูปภาพจาก google.com