วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559

ความหลากหลายของประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับยุครู้แจ้ง


ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี แปลและเรียบเรียง



ไม่มียุคสมัยใดในทางประวัติศาสตร์ที่จะถูกนำมาวิเคราะห์ ถกเถียง ได้รับการเฉลิมฉลอง รำลึกถึง และโดนโจมตีอย่างหนักหน่วงมากเท่ากับยุครู้แจ้งหรือยุคภูมิธรรม (the Enlightenment) อีกแล้ว

ยุครู้แจ้งแตกต่างจากยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือยุคสมัยแห่งการปฏฺิรูปศาสนา ตรงที่มันไม่ได้เป็นเพียงช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับโลกร่วมสมัยเผยแสดงตัวออกมา

ตั้งแต่บทบาทของวิทยาศาสตร์ ถึงสงครามต่อต้านการก่อการร้าย จากเรื่องเสรีภาพในการพูด จนถึงการเหยียดเชื้อชาติ เราจะพบว่ามันมีข้อถกเถียงร่วมสมัยน้อยเรื่องมากที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับยุครู้แจ้ง

จินตนาการที่เรามีเกี่ยวกับยุครู้แจ้งจึงกลายเป็นสมรภูมิทางปัญญาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับยุครู้แจ้งถูกท้าทายและโต้แย้งจากผู้เกี่ยวข้องพอๆ กับตัวเนื้อหาของยุครู้แจ้งเอง

คำถามยุครู้แจ้งว่าคืออะไร มีจุดเริ่มต้นและมีพัฒนาการมาอย่างไร เริ่มถูกเขียนและถ่ายทอดโดยเหล่านักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาหลายต่อหลายคน เพื่อจะตอบคำถามที่ว่า "อะไรคือยุครู้แจ้ง" (What is Enlightenment?)




                Immanuel Kant
                     และงาน 
Answering the Question: What is Enlightenment?



Immanuel Kant หนึ่งในนักปรัชญาเยอรมันคนสำคัญที่สุดของขบวนการยุครู้แจ้งตอบคำถามดังกล่าวว่ายุครู้แจ้งคือ “การหลุดพ้นจากความอ่อนด้อยทางปัญญาความคิด”

สำหรับ Kant, Voltaire, Hume และ Diderot แล้ว ความสำคัญของยุครู้แจ้งคือการชำระล้างจิตใจของชาวยุโรปให้พ้นมลทินจากไสยศาสตร์มืดแห่งยุคกลาง และยังช่วยเปิดทางให้แสงสว่างแห่งการใช้เหตุผลสามารถสาดส่องลงไปเพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ได้โดยตรง

นักประวัติศาสตร์ในยุคหลังหลายต่อหลายคนพยายามที่จะเขียนงานขึ้นเพื่อพัฒนาข้อถกเถียงเกี่ยวกับยุคสมัยดังกล่าวต่อไป เช่น คนอย่าง Ernst Cassirer ในงานศึกษาสุดคลาสสิคของเขาซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี 1932 ที่ชื่อ The Philosophy of the Enlightenment ก็เป็นหนึ่งในงานชิ้นสำคัญที่มีอิทธิพลในกระแสดังกล่าว





Ernst Cassirer และหนังสือThe Philosophy of the Enlightenment 


ยุครู้แจ้งในความเข้าใจของ Cassirer คล้ายคลึงกับยุครู้แจ้งของ Kant กล่าวคือเป็นยุคที่โดยเนื้อหาแล้วเป็นโครงการทางภูมิปัญญา (intellectual project) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้จิตวิญญาณของมนุษย์สามารถบรรลุถึง "ความกระจ่างชัดและความลุ่มลึกในการทำความเข้าใจธรรมชาติและโชคชะตาของตนเอง รวมทั้งของคุณลักษณะและภารกิจหลักของพวกเขา"

แต่ในยุคสมัยหลัง ทัศนะของงานเขียนจำนวนมากที่อธิบายยุครู้แจ้งว่าเป็นขบวนการทางภูมิปัญญาที่มีความเชื่อมโยงและเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจในภาคพืันยุโรปโดยทั่วไปอย่างเป็นวงกว้าง  เริ่มถูกท้าทายและโต้แย้งจากนักคิดหลายต่อหลายคน

นักประวัติศาสตร์บางคนเริ่มสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับยุครู้แจ้งโดยวางอยู่บนของขอบเขตแบบชาติ มากกว่าจะอธิบายโดยอยู่บนฐานของยุโรปทั้งภาคพื้นทวีป เช่น  The French Enlightenment, the German Enlightenment และ the Scottish Enlightenment ซึ่งเชื่อว่าสามารถถูกอธิบายแยกออกมาจากแง่มุมของตนเองและสามารถทำให้เห็นความแตกต่างในรายละเอียดได้

นักประวัติศาสตร์บางคนเริ่มจะเน้นย้ำให้เห็นถึงแง่มุมของพลวัตทางสังคมและวัฒนธรรมของยุครู้แจ้ง ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของนักคิดปัญญาชนกลุ่มเล็กๆเท่านั้น แต่มองว่ายุครู้แจ้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการของมนุษย์เดินดินทั่วๆไปมากกว่าจะมองว่ามันเป็นความคิดอันสูงส่งซึ่งเกิดขึ้นมาจากนักคิดไม่กี่คนหรือตำราเพียงไม่กี่เล่ม

ตัวอย่างเช่นงานของ  Robert Darnton นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและสิ่งพิมพ์ก็ถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่พยายามอภิปรายว่า "เราควรตั้งคำถามต่อการให้ความสำคัญกับผู้มีปัญญาและการให้ความสำคัญต่อมุมมองแบบอภิปรัชญาเกี่ยวกับชีวิตของปัญญาชนในศตวรรษที่สิบแปดมากเกินไป"

นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพยายามท้าทายและโต้แย้งมุมมองที่อธิบายยุครู้แจ้งว่าเป็นสิ่งที่ดีแต่เพียงด้านเดียว  โดยเฉพาะงานชิ้นสำคัญที่ชื่อ  Dialectic of Enlightenment ของสองนักปรัชญาผู้ร่วมก่อตั้งสำนัก Frankfurt School อย่าง Theodor Adorno และ Max Horkheimer ที่เขียนงานชิ้นดังกล่าวขึ้นเพื่อตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดประเทศอย่างเยอรมนีซึ่งเป็นชาติที่มีรากฐานทางภูมิปัญญาและปรัชญาแบบยุครู้แจ้งอันลุ่มลึกมากจึงสามารถนำไปสู่การเกิดขึ้นของระบอบนาซีอันเลวร้ายได้


Max Horkheimer และ Theodor Adorno 




คำตอบของทั้งคู่ดูจะวางอยู่บนเรื่องธรรมชาติของลัทธิเหตุผลนิยมแบบยุครู้แจ้ง (Enlightenment Rationalism)  โดย Adorno และ Horkheimer ไม่ได้ปฏฺิเสธและต่อต้านยุครู้แจ้งไปเสียทั้งหมด แต่พวกเขามองว่ายุครู้แจ้งไม่ได้มีแค่แง่มุมของด้านแสงสว่างที่เปิดทางไปสู่การปลดปล่อยมนุษย์อย่างที่เราเคยเชื่อกัน แต่มันยังมีแง่มุมของการนำไปสู่ความมืดมิดแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ด้วย

ซึ่งในช่วงทศวรรษหลังๆ ก็มีการนำความคิดแบบนี้ไปพัฒนาต่อยอดโดยนักคิดสายหลังสมัยใหม่และหลังอาณานิคม ซึ่งได้ทำให้ความมีเหตุมีผลและความเป็นสากลนิยมแบบยุครู้แจ้งที่เคยถูกมองมาว่าเป็นเสาหลักของความคิดก้าวหน้ามาอย่างยาวนาน ณ ตอนนี้กลับถูกนักคิดหลายคนมองว่ามันเป็นการเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง กระทั่งเป็นเรื่องของการเหยียดชาติพันธุ์

ในท่ามกลางความแตกต่างและไม่ลงรอยกันของภูมิทัศน์การศึกษาเกี่ยวกับยุครู้แจ้ง งานอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญและถือเป็นหมุดหมายใหม่ของการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับยุครู้แจ้ง ก็คืองานของคนอย่าง Jonathan Israel ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ และเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ Spanish และ Dutch เป็นการเฉพาะ

งานไตรภาค 3 ชิ้นสำคัญของ Israel ที่เริ่มตีพิมพ์ขึ้นมาเมื่อสิบกว่าปีก่อน เป็นชุดของหนังสือที่เกี่ยวข้องกับยุครู้แจ้งโดยตรง อันประกอบไปด้วย  1) Radical Enlightenment 2) Enlightenment Contested และ 3) Democratic Enlightenment  โดยหนังสือชุดนี้ของเขาถือเป็นงานที่พยายามจะจัดวางข้อถกเถียงเกี่ยวกับคุณลักษณะของยุครู้แจ้งและความหมายของตัวมันที่มีต่อโลกสมัยใหม่ในแบบที่ต่างออกไป


Jonathan Israel และหนังสือชุดของเขา 






ในบรรดาข้อมูลจำนวนมหาศาลจากที่มาหลากหลายภาษา จำนวนหน้ากระดาษนับพัน และจำนวนตัวหนังสือนับล้านจากงานทั้งสามเล่มของเขา สิ่งที่ Israel พยายามทำคือนำเสนอโครงสร้างการทำความเข้าใจเกี่ยวกับยุครู้แจ้งเสียใหม่

เช่นเดียวกับนักคิดหลายคนที่มาก่อนหน้าเขา Israel ยกย่องชื่นชมยุครู้แจ้งว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง (transformative period) ซึ่งยุโรปได้ขยับเปลี่ยนตนเองจากรูปแบบทางวัฒนธรรมที่วางอยู่บนแก่นของการมีศรัทธา จารีตประเพณีและสิทธิอำนาจบางอย่างร่วมกัน  ไปสู่รากฐานแบบใหม่ที่มองว่าทุกสิ่งทุกอย่าง-ไม่สำคัญว่าลึกซึ้งหรือรากฐานขนาดไหน-ล้วนสามารถถูกตั้งคำถามได้ภายใต้แสงสว่างของเหตุผลในเชิงปรัชญา และยังมองว่าเป็นยุครู้แจ้งเป็นยุคสมัยที่อำนาจนำของเทววิทยาในยุคเก่าถูกโค่นล้มลงไป

แต่ข้อแตกต่างสำคัญซึ่งเป็นหัวใจของข้อถกเถียงในงานของ Israel ก็คือเขาเสนอว่ายุคสมัยที่เรียกว่ายุครู้แจ้งนั้นไม่ได้มีอยู่สายเดียวและเป็นเอกภาพกันอย่างที่นักคิดก่อนหน้าเขาอธิบาย แต่เขาเสนอว่ายุครู้แจ้งมีอยู่ 2 แบบ/ลักษณะ/ขบวนการ( there were two Enlightenments) ด้วยกัน

ยุครู้แจ้งแบบกระแสหลัก (mainstream enlightenment ) คือยุครู้แจ้งแบบของ Kant, Locke, Voltaire และ Hume ซึ่งเป็นกลุ่มนักคิดที่ได้นำเสนอหน้าตาแบบสาธารณะ/กระแสหลักให้กับยุครู้แจ้ง ดังที่คนทั่วไปรู้จักและนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ได้เขียนถึง

แต่ Israel เสนอว่ามันยังมีขบวนการของยุครู้แจ้งอีกหนึ่งกระแสซึ่งไม่ใช่กระแสหลัก แต่เขาเรียกว่ามันคือ Radical Enlightenment หรืออาจจะแปลได้ว่าเป็นยุครู้แจ้งแบบถอนรากถอนโคน ซึ่งถูกสร้างและได้รับอิทธิพลโดยนักคิดหลายคนซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก แต่คนหล่านี้ถือเป็นกลุ่มคนที่สร้างและจัดวางหัวใจรวมทั้งจิตวิญญาณให้แก่ยุครู้แจ้งเลยทีเดียวในความเห็นของ Israel เช่น คนอย่าง d’Holbach, Diderot, Condorcet เป็นต้น แต่ในบรรดาทั้งหมดนั้น คนที่ Israel ให้ความสำคัญมากที่สุดดูจะเป็น นักปรัชญาชาวดัสต์อย่าง Baruch Spinoza นั่นเอง


Baruch Spinoza




Israel เสนอว่ายุครู้แจ้งทั้งสองแบบถูกแบ่งแยกออกจากกันบนคำถามที่ว่า "เหตุผลถือเป็นสิ่งที่มีอำนาจมากที่สุดในกิจการของมนุษย์ใช่หรือไม่"  

ถ้าเป็นพวกยุครู้แจ้งแบบกระแสหลักก็จะตอบคำถามดังกล่าวว่า แม้เหตุผลจะมีความสำคัญในชีวิตของมนุษย์ แต่เหตุผลก็ต้องมีพื้นที่ซึ่งถูกจำกัดอยู่โดยศรัทธาและจารีตประเพณีอยู่เช่นกัน Israel เห็นว่า พวกกระแสหลักได้จำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อรูปแบบทางสังคมและความเชื่อแบบเก่าเอาไว้อย่างมีขอบเขต

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่เรียกว่าพวกยุครู้แจ้งแบบถอนรากถอนโคน (The  Radical Enlightenment) กลับยืนยันที่จะปฏิเสธการประณีประนอมกับมรดกจากอดีตทุกรูปแบบ และพยายามหาหนทางที่จะกวาดล้างโครงสร้างเก่าที่ดำรงอยู่ออกไปให้หมดสิ้น เพราะพวกเขายืนยันความคิดที่ว่า 'เหตุผล' คือสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดในการกำหนดกิจการของชีวิตมนุษย์ ซึ่งไม่อาจถูกจำกัดได้โดยความเชื่อ ศรัทธา และจารีตประเพณีใดๆ

ในความเห็นของ Israel สิ่งที่เขาเรียกรวมๆว่า "ชุดของคุณค่าพื้นฐาน" ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้นิยามความเป็นสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ความอดทนอดกลั้น เสรีภาพส่วนบุคคล ประชาธิปไตย ความเสมอภาคทางเชื้อชาติ การปลดปล่อยทางเพศ และสิทธิสากลที่มีต่อความรู้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ได้รับมาจากข้อเสนอของกลุ่ม Radical Enlightenment ในทางหลักการทั้งสิ้น

ทั้งหมดที่เล่ามานี้เพื่อจะทำให้เห็นว่าการเขียนและตีความที่นักวิชาการมีต่อ 'ยุครู้แจ้ง' มีได้หลายมุมมองและหลายวิธีการ การเหมารวมว่า 'ยุครู้แจ้ง' เป็นขบวนการที่เป็นเอกภาพ หรือเป็นยุคสมัยที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อมนุษยชาติเท่านั้นจึงเป็นข้อสรุปที่เร็วเกินไป



[แปลและเรียบเรียงจาก Kenan Malik. 'Seeing reason: Jonathan Israel's radical vision.']

ขอบคุณรูปภาพจาก google.com

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เมื่อสตรีนิยมกลายเป็นสาวรับใช้ของทุนนิยม และวิธีกอบกู้สถานการณ์

เมื่อสตรีนิยมกลายเป็นสาวรับใช้ของทุนนิยม และวิธีกอบกู้สถานการณ์[1]


Nancy Fraser[2] เขียน 
ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี แปลและเรียบเรียง


เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท: http://prachatai.org/journal/2016/02/63992


ในฐานะที่เป็นทั้งนักสตรีนิยมที่สนใจปัญหาของผู้หญิง และยังเป็นนักทฤษฎีวิพากษ์ที่สนใจปัญหาเศรษฐศาสตร์การเมืองรวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม Nancy Fraser ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ปัญหาสถานการณ์ของสตรีนิยมในปัจจุบันจากสายตาของเธอ โดยนำเอาความสนใจทั้งสองด้านมาประกอบกัน

การเป็นนักสตรีนิยมทำให้เธอเชื่อมาตลอดว่าภารกิจหลักในการปลดปล่อยผู้หญิงจะช่วยทำให้พวกเธอสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ นั่นคือโลกที่เสมอภาค มีความยุติธรรมและมีเสรี แต่เมื่อไม่นานมานีอุดมคติของการปลดปล่อยผู้หญิงที่ริเริ่มโดยบรรดานักสตรีนิยม กลับให้ผลลัพธ์และหันไปรับใช้เป้าหมายที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการวิพากษ์การกีดกันทางเพศ (sexism) ของนักสตรีนิยม กำลังกลายเป็นเหตุผลสนับสนุนความไม่เท่าเทียมและการกดขี่ขูดรีดรูปแบบใหม่ที่เกิดจากระบบทุนนิยมโดยไม่รู้ตัว  ปรากฏการณ์เหล่านี้ถือเป็นการบิดผันอันโหดร้ายของโชคชะตา เมื่อการปลดปล่อยผู้หญิงตามแนวทางของสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง[3] กำลังกลายเป็นหุ้นส่วนที่อันตรายของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ที่พยายามจะสร้างสังคมตลาดเสรีขึ้นมา

แต่เดิมนั้นความคิดแบบสตรีนิยมเคยเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสร้างโลกทัศน์ในเชิงวิพากษ์ แต่ในปัจจุบันมันกลับค่อย ๆ กลายเป็นคำอธิบายที่มีลักษณะในเชิงปัจเจกบุคคลมากขึ้นเรื่อย ๆ ครั้งหนึ่งที่สตรีนิยมเคยวิพากษ์วิจารณ์สังคมซึ่งส่งเสริมแนวคิดความก้าวหน้าทางอาชีพ ตอนนี้มันกำลังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าไปต่อสู้ "เผชิญความท้าทาย" ในระบบตลาดเสรี การเคลื่อนไหวซึ่งครั้งหนึ่งเคยให้ความสำคัญกับภราดรภาพทางสังคม ตอนนี้กลับสนับสนุนการมีผู้ประกอบการหญิงที่เข้าไปแข่งขันในระบบทุนนิยม ทัศนคติที่ครั้งหนึ่งเคยให้คุณค่ากับ "การเอาใจใส่" (care) และการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ตอนนี้มันกลับหันมาส่งเสริมความก้าวหน้าและความสำเร็จในอาชีพโดยความสามารถส่วนตัวของปัจเจกแบบแยกขาดจากผู้อื่น

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ คือการเปลี่ยนแปลงในคุณลักษณะพื้นฐานของระบบทุนนิยม จากเดิมที่เคยเป็นระบบทุนนิยมที่กำกับควบคุมโดยรัฐ (state-managed capitalism) ในช่วงเวลาหลังสงคราม กลายเป็นระบบทุนนิยมรูปแบบใหม่ที่ "ยุ่งเหยิง" ที่มีลักษณะครอบคลุมทั่วทั้งโลกและเป็นเสรีนิยมใหม่ สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองถือกำเนิดขึ้นจากการวิพากษ์สิ่งแรก (ทุนนิยมที่กำกับควบคุมโดยรัฐ) และกำลังกลายเป็นสาวรับใช้ของสิ่งหลัง (ทุนนิยมแบบเสรีนิยมโลกาภิวัตน์)

เมื่อมองย้อนกลับไป เราจะเห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยผู้หญิงได้ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ในอนาคตที่แตกต่างกันสองสถานการณ์ไปพร้อมๆกัน สถานการณ์แรก การปลดปล่อยผู้หญิงได้นำเสนอโลกซึ่งการปลดปล่อยในเชิงเพศสภาพเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) และภราดรภาพทางสังคม ขณะที่สถานการณ์ที่สอง การปลดปล่อยผู้หญิงได้ให้คำมั่นสัญญาต่อเสรีนิยมรูปแบบใหม่ว่าจะอนุญาตและส่งเสริมให้ผู้หญิงมีอำนาจในการจัดการชีวิตของตนเอง ให้พวกเธอได้มีทางเลือกในชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น และมีความก้าวหน้าด้วยความสามารถของตนเองเช่นเดียวกับผู้ชาย ในแง่นี้สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองจึงมีความสับสนและขัดแย้งในตัวเองอยู่

ความสับสนของสตรีนิยมดังกล่าวคลี่คลายลงด้วยการหันไปสนับสนุนและเลือกข้างกรณีที่สอง คือการส่งเสริมปัจเจกบุคคลแบบเสรีนิยมใหม่ แต่ที่ลงเอยเช่นนั้นไม่ใช่เป็นเพราะสตรีนิยมตกเป็นเหยื่อของสิ่งเย้ายวนล่อลวงใจของลัทธิเสรีนิยมใหม่โดยดุษณี ในทางตรงกันข้าม สตรีนิยมเองกลับมีส่วนในการส่งเสริมแนวความคิดหลักที่สำคัญ 3 ประการให้กับพัฒนาการดังกล่าว

ความช่วยเหลือประการที่หนึ่งของสตรีนิยมต่อระบบทุนนิยมแบบใหม่ คือการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อ ระดับค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงครอบครัว (family wage) อันเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าผู้ชายคือผู้หาเลี้ยงครอบครัวและผู้หญิงคือผู้ดูแลครัวเรือน ความคิดดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญของระบบทุนนิยมที่กำกับควบคุมโดยรัฐ

การวิพากษ์ของสตรีนิยมต่ออุดมคติทางความคิดดังกล่าวกำลังสร้างความชอบธรรมให้กับ "ระบบทุนนิยมที่ยืดหยุ่น" (flexible capitalism) ซึ่งพึ่งพิงแรงงานลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานค่าแรงต่ำในภาคบริการและภาคการผลิต ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงวัยรุ่นที่เป็นโสดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้หญิงที่แต่งงานและผู้หญิงที่มีลูกแล้ว ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง แต่รวมถึงผู้หญิงทุกสัญชาติและชาติพันธุ์ เมื่อผู้หญิงทั่วโลกถูกผลักดันเข้าสู่ตลาดแรงงาน อุดมคติของระบบทุนนิยมที่กำกับควบคุมโดยรัฐแต่เดิมจึงถูกแทนที่ด้วยบรรทัดฐานที่ใหม่กว่าและมีความเป็นสมัยใหม่กว่าซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างชัดแจ้งจากสตรีนิยม นั่นคือบรรทัดฐานของครอบครัวที่มีรายได้มาจากทั้งผู้ชายและผู้หญิง

ถึงแม้สภาพความเป็นจริงที่เป็นรากฐานของอุดมคติแบบใหม่คือการกดค่าจ้างแรงงาน ลดความมั่นคงในการทำงาน มาตรฐานคุณภาพชีวิตที่เสื่อมถอย การเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณของอัตราชั่วโมงการทำงานแลกค่าจ้างต่อครัวเรือน และการเพิ่มขึ้นของความยากจน โดยเฉพาะกับครอบครัวที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่เสรีนิยมใหม่กลับพยายามกลบเกลื่อนสิ่งที่เลวร้ายทั้งปวงเหล่านี้ โดยการประดิษฐ์สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับการเสริมสร้างอำนาจให้ผู้หญิง ซ้ำร้าย การที่ทุนนิยมสวมรอยอ้างการวิพากษ์วิจารณ์ของสตรีนิยมที่มีต่อระดับค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงครอบครัวเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการขูดรีดเอาเปรียบในตลาดแรงงาน ยังเป็นการควบคุมความใฝ่ฝันที่จะปลดปล่อยผู้หญิงเพื่อใช้สนับสนุนการสะสมทุนของระบบทุนนิยมเอง

สตรีนิยมยังให้ความช่วยเหลือประการที่สองแก่จิตวิญญาณของเสรีนิยมใหม่ ครั้งหนึ่งในยุคของทุนนิยมที่กำกับควบคุมโดยรัฐ สตรีนิยมเคยวิพากษ์วิจารณ์วิสัยทัศน์ทางการเมืองที่คับแคบซึ่งพุ่งเป้าไปที่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น จนมองไม่เห็นประเด็นเรื่องความอยุติธรรม "ที่ไม่ใช่เรื่องทางเศรษฐกิจ" อย่างเช่นความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ และการบีบบังคับให้ตั้งครรภ์  การปฏิเสธแนวคิด เศรษฐกิจนิยม” (economism) และพยายามทำให้ เรื่องส่วนตัว” (the personal) กลายเป็นเรื่องทางการเมือง ทำให้สตรีนิยมในเวลานั้นขยายขอบเขตของวาระทางการเมืองเพื่อท้าทายสถานะของความเหลื่อมล้ำที่วางอยู่บนฐานของความแตกต่างในเชิงเพศสภาพอันเป็นผลมาจากการประกอบสร้างทางวัฒนธรรม

ผลลัพธ์ที่คาดหวังควรเป็นการขยายตัวของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมที่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ แต่ผลลัพธ์จริงๆ กลับกลายเป็นการให้ความสำคัญแต่เฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ อัตลักษณ์ทางเพศ” (gender identity) และละเลยประเด็นเรื่องปากท้องไป ที่แย่ไปกว่านั้น การที่สตรีนิยมได้หันไปหาการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ยังสอดรับอย่างประจวบเหมาะกับการเติบโตขึ้นของลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการปิดกั้นทุกความทรงจำที่มีต่อความเท่าเทียมทางสังคม ผลกระทบต่อเรื่องนี้คือการที่สตรีนิยมให้ความสำคัญกับการวิพากษ์การกีดกันทางเพศในเชิงวัฒนธรรมอย่างมากในเวลาที่สภาพแวดล้อมทางสังคมกำลังต้องการความสนใจเป็นทวีคูณต่อการวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง

สุดท้าย สตรีนิยมได้ให้ความช่วยเหลือทางความคิดประการที่สามต่อลัทธิเสรีนิยมใหม่ นั่นคือการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อรัฐสวัสดิการแบบนิยมชาย (welfare-state paternalism) ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอย่างปฏิเสธไม่ได้ในช่วงเวลาของทุนนิยมที่กำกับควบคุมโดยรัฐ การวิพากษ์ดังกล่าวได้ผสานเข้ากับการทำสงครามของลัทธิเสรีนิยมใหม่ต่อ รัฐพี่เลี้ยงเด็ก” (the nanny state) รวมทั้งยังบรรจบกับการถากถางของเหล่า NGOs เมื่อไม่นานมานี้อีกด้วย

ตัวอย่างสำคัญคือการปล่อยสินเชื่อในระดับรากหญ้า (microcredit) ซึ่งเป็นโครงการของธนาคารขนาดเล็กที่ปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้หญิงในซีกโลกทางใต้ โครงการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิง ทั้งยังได้รับยกย่องว่าเป็นยาถอนพิษความยากจนและการถูกครอบงำของผู้หญิง อย่างไรก็ตามการปล่อยสินเชื่อในระดับรากหญ้ากลับส่งผลให้รัฐเมินเฉยต่อการต่อสู้กับความยากจนในโครงสร้างระดับมหภาค ซึ่งเป็นอีกครั้งที่เสรีนิยมใหม่ฉวยใช้ความพยายามของสตรีนิยมเพื่อเป็นข้ออ้างในการให้ความชอบธรรมกับการขยายตัวของตลาดและการลดรายจ่ายทางสังคมของภาครัฐ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยืนยันว่าความสับสนและขัดแย้งภายในของสตรีนิยมคลี่คลายไปในหนทางที่สนับสนุนลัทธิปัจเจกนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ แต่ทว่าสถานการณ์ของภราดรภาพทางสังคมในอีกด้านหนึ่งยังอาจไม่ได้ตายจากไปไหนอย่างสิ้นเชิง วิกฤติในรอบปัจจุบันได้สร้างโอกาสในการเชื่อมต่อความฝันที่จะปลดปล่อยผู้หญิงเข้ากับวิสัยทัศน์ของสังคมที่มีภราดรภาพได้อีกครั้ง เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สตรีนิยมจำเป็นต้องทำลายความสัมพันธ์ที่อันตรายกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ และกอบกู้ ความช่วยเหลือ” 3 ประการเพื่อเป้าหมายของสตรีนิยมเอง

ประการแรก สตรีนิยมอาจทำลายการเชื่อมโยงจอมปลอมระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อระดับค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงครอบครัวกับระบบทุนนิยมแบบยืดหยุ่น ด้วยการต่อสู้เพื่อสร้างรูปแบบของชีวิตที่ไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่ที่งานที่มีค่าจ้าง และหันมาให้คุณค่ากับกิจกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทนมากขึ้น เช่น งานสังคมสงเคราะห์ (care work)

ประการที่สอง สตรีนิยมอาจหยุดยั้งเส้นทางของตนเองที่ผันตัวจากการวิพากษ์ลัทธิเศรษฐกิจนิยมไปสู่การเมืองเชิงอัตลักษณ์ ด้วยการบูรณาการการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระเบียบของสถานภาพทางสังคมที่วางอยู่บนคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมแบบผู้ชาย เข้ากับการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ

ประการสุดท้าย สตรีนิยมอาจตัดสายสัมพันธ์ที่จอมปลอมระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์ของตนเองที่มีต่อระบบราชการและแนวคิดที่เชื่อมั่นในตลาดเสรีอย่างสุดขั้ว (free-market fundamentalism) ด้วยการทวงคืนบทบาทของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในฐานะเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้กับอำนาจสาธารณะอันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการจำกัดอำนาจทุนเพื่อสร้างความยุติธรรม




[1] แปลและเรียบเรียงจากบทความ Nancy Fraser. “How feminism became capitalism's handmaiden - and how to reclaim it.  The Guardian. http://www.theguardian.com/commentisfree/2013/oct/14/feminism-capitalist-handmaiden-neoliberal ผู้แปลขอขอบคุณภาคิน นิมมานนรวงศ์ ที่ให้ความช่วยเหลือในการขัดเกลาภาษาของผู้แปลให้ดียิ่งขึ้น
[2] นักปรัชญาและนักทฤษฎีวิพากษ์ชาวอเมริกัน
[3] สตีนิยมคลื่นลูกที่สอง (The second-wave feminism) นั้นสามารถระบุได้ว่าปรากฏตัวขึ้นเป็นกระแสในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 พร้อมกับการตีพิมพ์หนังสือสำคัญของ Simone de Beauvoir ที่ชื่อ The Second Sex ขบวนการเคลื่อนไหวของสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองนั้นมีลักษณะสำคัญคือเป็นกระแสที่พยายามจะก้าวไปให้ไกลกว่าการต่อสู้และข้อเรียกร้องของสตรีนิยมคลื่นลูกที่หนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับสถานะความไม่เท่าเทียมทางการเมืองและกฎหมายของผู้หญิง โดยสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองเสนอว่าแม้การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางการเมืองและกฎหมายจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการยุติการกดขี่ที่มีต่อผู้หญิงให้หมดไป ในมุมมองของสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองการกดขี่ทางเพศไม่ได้มีรากอยู่แค่ในระบบกฎหมายและการจัดการทางการเมืองเท่านั้น แต่การกดขี่ทางเพศมีสาเหตุมาจากทุกแง่มุมที่ฝังลึกและแพร่กระจายอยู่ในแทบทุกมิติของชีวิตทางสังคมของมนุษย์ ซึ่งหมายรวมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ตลอดจนบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่ถูกตั้งคำถาม กิจวัตรและปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ยิ่งไปกว่านั้นสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองยังได้วิพากษ์วิจารณ์สตรีนิยมคลื่นลูกที่หนึ่งเอาไว้ว่านำเสนอข้อเรียกร้องที่ไม่ไกลพอในการปฏิรูปเศรษฐกิจ สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองเสนอว่า สตรีนิยมจำเป็นต้องเรียกร้องความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มขั้นสำหรับผู้หญิงมากกว่าการเรียกร้องเพียงแค่การมีชีวิตรอดในทางเศรษฐกิจเท่านั้น
อีกประการที่สำคัญ สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองวิพากษ์วิจารณ์และท้าทายการแบ่งแยกพื้นที่สาธารณะ/ส่วนตัว (public/private) ออกเป็นคู่ขั้วตรงข้าม ซึ่งสตรีนิยมคลื่นลูกที่หนึ่งให้ความสำคัญแต่การเมืองในพื้นที่สาธารณะโดยเรียกร้องการเพิ่มบทบาทและอำนาจให้แก่ผู้หญิงมากขึ้น แต่สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองเสนอให้ลองหันไปตรวจสอบและสำรวจพื้นที่ส่วนตัวของชีวิตทางสังคมของมนุษย์ เช่น สถาบันการแต่งงาน ความเป็นแม่ ความสัมพันธ์แบบรักต่างเพศ เพศวิถีของผู้หญิง และพื้นที่อื่นๆ ว่าพื้นที่เหล่านี้ต่างก็มีความเป็นการเมืองแฝงอยู่เช่นกัน (The personal is the political) ดังนั้นแทนที่จะเคลื่อนไหวและผลักดันแค่การปฏิรูปกฎหมายหรือโครงสร้างทางการเมืองที่ดำรงอยู่ สตรีนิยมคลื่นลูกที่สองกลับมีเป้าหมายที่การเปลี่ยนแปลงทุกแง่มุมของชีวิตทางการเมืองและชีวิตส่วนตัวของมนุษย์อย่างถอนรากถอนโคน ไม่ใช่แค่ในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น (โปรดดู Cudd, Ann E., and Robin O. Andreasen. 2005. Feminist theory: a philosophical anthology. Oxford, UK: Blackwell Pub. p.7-9)

สี่บทเรียนจาก ‘สตาร์ วอร์ส’ ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

สี่บทเรียนจาก สตาร์ วอร์สในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย[1]

Tyler Roylance เขียน
ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี แปลและเรียบเรียง[2]


เผยแพร่ในเว็บไซต์ TCIJ : http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5999


เรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว ในกาแล็กซี่อันห่างไกลแสนไกล แต่ความจริงพื้นฐานเกี่ยวกับเผด็จการและการสร้างประชาธิปไตยเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องสากลของจักรวาล

1.       การต่อสู้ไม่ได้จบลงเมื่อทรราชพ่ายแพ้

ภาคล่าสุดของภาพยนตร์ชุดเรื่อง สตาร์ วอร์ส ตอนอุบัติการณ์แห่งพลัง เกิดขึ้นหลายปีหลังจากที่จักรพรรดิพัลพาทีนผู้ชั่วร้ายถูกสังหาร สาธารณรัฐใหม่ได้ถูกสถาปนาขึ้น แต่เศษซากของจักรวรรดิเก่าก็กำลังรวมตัวกันขึ้นใหม่ ในองค์กรที่เรียกว่า ปฐมภาคี (First Order)  ที่มีเป้าหมายคือการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย

หลาย ๆ ปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันได้ทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคหลังเผด็จการอำนาจนิยมบนดาวโลกต้องหยุดชะงักลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ในอียิปต์นั้นกองกำลังความมั่นคงที่ยังไม่ได้รับการปฏิรูปของนายฮอสนี มูบารัค จอมเผด็จการที่หลุดจากอำนาจไป ได้ขัดขวางความพยายามที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งลงท้ายด้วยการโค่นล้มประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งและสร้างระบอบเผด็จการขึ้นใหม่ สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านอย่างในเวเนซุเอลาและในพม่าคาดว่าจะได้มาในอนาคตอาจต้องประสบกับอุปสรรคต่าง ๆ จาก องค์ประกอบหลายอย่างที่เปลี่ยนยากของระบอบเก่าที่ตั้งมั่นอยู่ในปีที่กำลังจะมาถึงนี้


2.        ฝ่ายคนเลวมักสู้ด้วยวิธีการสกปรก

ในภาพยนตร์นั้น การติดตั้งอาวุธลับใหม่อีกครั้งของปฐมภาคีได้ละเมิดสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่มีอยู่ และยังได้นำไปสู่การลงบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ต่ำช้าต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว พวกมันทรมานเชลยศึกเพื่อล้วงข้อมูล ทหารของพวกมันได้ทำการสังหารชาวบ้านในขณะที่กำลังดำเนินการค้นหา และในที่สุดอาวุธมหาประลัยของพวกมันก็ทำลายล้างดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ไปหลายดวงจนสิ้นซาก

ไม่นับการทำลายล้างดาวเคราะห์ไปหลายดวง ปฏิบัติการที่น่าขนหัวลุกเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันในหมู่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมบนโลกของเรา รวมทั้งในหมู่ผู้คนที่หวังจะสร้างและฟื้นฟูมันกลับมา ยิ่งไปกว่านั้น เช่นเดียวกับในภาพยนตร์ แม้แต่กลุ่มผู้นิยมระบอบประชาธิปไตยก็เปราะบางต่ออิทธิพลอันฉ้อฉลจากด้านมืดแห่งธรรมชาติของมนุษย์ สภาวะนี้สามารถทำให้รัฐบาลและการเมืองของเราป่วยไข้ และดังที่เห็นได้จากความพยายามในการเกณฑ์คนของกลุ่มกองทัพแห่งรัฐอิสลาม (IS) มันสามารถบิดเบือนความภักดีของเด็ก ๆ ของเราได้

โชคยังดี ที่การกดขี่ด้วยความรุนแรงและความอยุติธรรมนั้นมักจะหว่านเมล็ดพันธุ์ของการทำลายตัวเองเอาไว้ วายร้ายในภาพยนตร์มักจะเผชิญหน้ากับการต่อต้าน ส่วนเผด็จการทั้งหลายบนโลกมนุษย์ก็ไม่เคยสามารถกำจัดความเห็นต่าง การประท้วง และการคัดค้านจากภายนอกได้ทั้งหมด ฐานดาวมรณะของปฐมภาคีจึงได้ถูกทำลายลงอย่างน่าจดจำด้วยความช่วยเหลือของอดีตสตอร์มทรูปเปอร์ผู้แปรพักตร์หลังจากที่ได้เป็นพยานเห็นเหตุการณ์สังหารหมู่

3.       ฝ่ายคนดีมักตอบโต้ได้เชื่องช้า

ดูเหมือนว่า เหล่าผู้นำของสาธารณะรัฐใหม่จะได้อนุญาตให้กลุ่มปฐมภาคีติดอาวุธได้อีกครั้ง แม้จะมีคำเตือนจากคนอย่างเจ้าหญิงเลอา หนึ่งในวีรชนจากสงครามต่อต้านจักรวรรดิเดิม อดีตนักสู้เพื่อเสรีภาพอีกคนหนึ่งอย่างลุค สกายวอล์เกอร์ได้หายตัวไปอยู่อย่างสันโดษภายหลังจากความพยายามของเขาที่จะสร้างนิกายอันเปี่ยมเมตตาของอัศวินเจไดขึ้นมาใหม่ต้องจบสิ้นลงด้วยหายนะ การหายตัวไปของเขาได้ละทิ้งสาธารณรัฐไว้ให้อ่อนแอในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามใหม่

รัฐบาลประชาธิปไตยในโลกของเรามีประวัติศาสตร์ของคาดหวังอย่างลม ๆ แล้ง ๆ (wishful thinking) โดยมักจะเพิกเฉยหรือเอาใจทรราชคนใหม่ ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ฝ่ายคนดียังอาจหมกมุ่นเกินไปกับการตั้งคำถามกับตนเองจมอยู่กับความผิดพลาดในอดีตของตนเอง ถึงขนาดที่พวกเขากลายเป็นอัมพาตเมื่อต้องกระทำการสำคัญในเวลาที่เหมาะสม เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากประเทศซีเรียในปัจจุบัน ที่ความหวาดกลัวของสหรัฐอเมริกาต่อการทำผิดพลาดซ้ำเหมือนกับการทำสงครามในประเทศอิรักได้เปิดโอกาสให้บรรดาความโหดร้ายป่าเถื่อนและอันตรายต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในช่วงห้าปีที่ผ่านมา

4.      ความสำเร็จยังคงเกิดขึ้นได้

กองกำลังฝ่ายสาธารณรัฐได้จัดการทำลายอาวุธมหาประลัยของปฐมภาคีในภาพยนตร์ภาคล่าสุด และมีสัญญาณว่าลุค สกายวอล์เกอร์จะกลับมาต่อสู้ในภาคต่อหลังจากนี้ โดยสังเขปแล้ว ฝ่ายคนดีได้ตระหนักถึงภัยอันตรายและได้ตอบโต้กลับ แม้ว่าความล่าช้าจะทำให้พวกเขาต้องเสียดาวเคราะห์ไปสองสามดวงก็ตาม

อนาคตบนดาวโลกไม่แน่นอน แต่บรรดาภัยคุกคามต่อเสรีภาพไม่ได้ไกลเกินกว่าจะเอาชนะได้ การรัฐประหารในปี 2015 โดยทหารหัวเก่าจำนวนหนึ่งที่ไม่เชื่อฟังคำสั่งและต่อต้านประชาธิปไตยซึ่งกำลังเกิดใหม่ในประเทศบูร์กินาฟาโซได้ถูกสยบลงโดยปราศจากความขัดแย้งระลอกใหม่ เพราะการกดดันจากสาธารณชนและทหารที่ภักดีต่อการนำของพลเรือน ถึงแม้ว่ารัฐบาลยูเครนจะกำลังต่อสู้กับความแตกแยกทางการเมืองที่ร้ายแรงและอุปสรรคต่อการปฏิรูป แต่จนถึงตอนนี้ก็รัฐบาลยูเครนก็ยังต่อต้านการคุกคามทางทหารและเศรษฐกิจจากกรุงมอสโคว์ซึ่งสนับสนุนระบอบเก่าต่อไป และที่แตกต่างไปจากในภาพยนตร์ก็คือผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมของจริงจะต้องรับมือกับปัญหาต่างๆอย่างการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการดิ่งตัวลงของราคาน้ำมัน ซึ่งทำให้พวกเขาเผชิญกับความไม่พอใจของประชาชนมากกว่าช่วงเวลาใด ๆในทศวรรษที่ผ่านมา

แม้จะไม่มีพลังแบบเจได แต่ตราบใดที่เรายังคงเตรียมพร้อมสำหรับภยันตรายใหม่ ๆ ส่งเสียงและต่อสู้เมื่อถึงเวลาที่จำเป็น รวมไปถึง ระวังการใช้อำนาจที่แสนยั่วยวนใจของความเกลียดชังและความอำมหิต มนุษย์อย่างพวกเราก็ยังสามารถทำบางอย่างที่เล็กน้อยเพื่อขยายเสรีภาพไปทั่วโลกได้เช่นกัน





[1] แปลจากบทความ Tyler Roylance. Lessons from ‘Star Wars’ on the Fight for Democracy. Freedom House. https://freedomhouse.org/blog/lessons-star-wars-fight-democracy

[2] ผู้แปลขอขอบคุณธีรวัฒน์ อธิการโกวิทย์ และ ธรรมชาติ กรีอักษร  สำหรับความช่วยเหลือในการขัดเกลาภาษาของผู้แปลให้ดียิ่งขึ้น