วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

อาเรนด์และมาร์กซ์ (แปล)


อาเรนด์และมาร์กซ์ (Arendt & Marx)[1]


ฉันต้องการจะกอบกู้เกียรติภูมิของมาร์กซ์ในสายตาคุณ
        จดหมายของ Hannah Arendt ถึง Karl Jaspers ปี 1950

Samantha Rose Hill [2] เขียน
ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี แปล




          ฮันนาห์ อาเรนด์ ไม่ใช่ผู้นิยมชมชอบในตัวคาร์ล มาร์กซ์ แต่เธอเอาจริงเอาจริงกับงานเขียนของเขา หนังสือเรื่องทุน (Das Kapital) ทั้งสามเล่มมีอยู่ในห้องสมุดส่วนตัวของเธอที่วิทยาลัยบาร์ด (Bard College) เธอเริ่มต้นบทที่ว่าด้วยเรื่อง แรงงาน’ (Labour) ในหนังสือ The Human Condition โดยการประกาศว่า ในบทต่อไปนี้ คาร์ล มาร์กซ์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์  ในการบรรยายของเธอเกี่ยวกับมาร์กซ์ซึ่งถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานนี้อยู่ในหนังสือรวมบทความที่มี เจโรม คอห์น (Jerome Kohn) เป็นบรรณาธิการ ชื่อ Thinking Without a Banister อาเรนด์เริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า มันไม่เคยเป็นเรื่องง่ายในการคิดและเขียนเกี่ยวกับคาร์ล มาร์กซ์




          การอ่านงานของอาเรนด์ที่เขียนเกี่ยวกับมาร์กซ์ทำให้เรารู้สึกถึงความสบสนเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาเรนด์ทั้งจัดวางมาร์กซ์ไว้ในจารีตของปรัชญาการเมืองตะวันตก ขณะเดียวกันเธอก็พิจารณาอย่างจริงจังว่ามีองค์ประกอบของความเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ
(totalitarianism) อะไรบ้างที่อาจซ่อนอยู่ภายใต้ผิวเปลือกนอกในงานเขียนของมาร์กซ์ และอาเรนด์ยอมรับว่ามันมีเส้นแบ่งบางๆ อยู่ระหว่างตัวมาร์กซ์เองกับลัทธิมาร์กซ์จำนวนมากที่เกิดขึ้นมาจากการอ่านงานของมาร์กซ์
  อาเรนด์ยอมรับว่ามาร์กซ์เป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่ ข้อวิจารณ์หลักของเธอที่มีต่อมาร์กซ์ก็คือการที่มาร์กซ์เชิดชูกิจกรรมของการใช้แรงงาน (laboring activity) ว่าเป็นความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ เธอกล่าวถึงมาร์กซ์อย่างรวบรัดด้วยประโยคที่ว่า แรงงานถือเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดมนุษย์สำหรับอาเรนด์ แรงงานเป็นสิ่งที่ผูกพันเราเข้ากับธรรมชาติ แรงงานคือกิจกรรมทางกายภาพที่ทำให้เราผูกพันอยู่กับเงื่อนไขแวดล้อมของเราในฐานะสัตว์ที่มีชีวิต สำหรับเธอ ชีวิตที่ดีไม่สามารถเกิดขึ้นจากกิจกรรมของการใช้แรงงานได้ด้วยตัวมันเอง เราต้องถูกปลดปล่อยออกจากแรงงานและเป็นอิสระที่จะมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะ
          งานเขียนของอาเรนด์โดยพื้นฐานเกี่ยวข้องกับพื้นที่ของเสรีภาพและเสรีภาพจากทรราช จากการอ่านของเธอ งานเขียนของมาร์กซ์โดยพื้นฐานนั้นเกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่ยึดมั่นอยู่กับการดำรงอยู่ทางร่างกายซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับเสรีภาพ เธอเป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์ต่อการที่ลัทธิบริโภคนิยมกลายเป็นสิ่งที่กำหนดสังคมร่วมสมัย แต่เธอก็เคลือบแคลงสงสัยต่อแรงผลักดันหลักในเชิงอุดมการณ์ที่อยู่ในงานเขียนของมาร์กซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพราะงานเขียนของมาร์กซ์ผูกโยงอยู่กับแนวคิดเรื่องความรุนแรงและประวัติศาสตร์ ซึ่งสำหรับอาเรนด์ถือเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความหวาดกลัวทางการเมืองโดยตรง ถึงที่สุด อาเรนด์ไม่ได้กล่าวโทษมาร์กซ์ต่อการปรากฏขึ้นของลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่เธอมองเห็นบางอย่างในแบบแผนความคิดของมาร์กซ์ซึ่งทำให้แนวคิดของเขาเป็นสิ่งที่อ่อนไหวต่อพวกนักอุดมการณ์ คอนเสปหลักในงานของมาร์กซ์ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการใช้แรงงาน ความจำเป็นของความรุนแรง และเส้นทางที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของประวัติศาสตร์ ล้วนแต่มีบทบาทบนเวทีโลกของศตวรรษที่ยี่สิบ สำหรับอาเรนด์ ทั้งแรงงาน ความรุนแรง และประวัติศาสตร์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ
      โครงการเกี่ยวกับมาร์กซ์ที่ไม่เสร็จสมบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของอาเรนด์ที่จะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ของเผด็จการเบ็ดเสร็จในศตวรรษที่ยี่สิบ บทความแรกที่อยู่ในหนังสือรวมบทความที่กล่าวถึงข้างต้น ชื่อ Karl Marx and the Tradition of Western Political Thought เริ่มต้นด้วยการคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับมาร์กซ์ในฐานะที่เป็นจุดแตกหักของสายธารจารีตความคิดทางการเมืองตะวันตก  อาเรนด์วิพากษ์วิจารณ์ต่อพวกที่พยายามจะจัดวางงานเขียนของมาร์กซ์ให้อยู่ในแนวทางเดียวกับเลนินและสตาลิน เราไม่สามารถกล่าวโทษมาร์กซ์ว่าเป็นบิดาของการครอบงำแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จได้มากไปกว่าเพลโตหรืออริสโตเติ้ล เพราะปรัชญาของมาร์กซ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากจารีตกระแสหลักอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว อาเรนด์เขียนว่า ดูเหมือนมีน้อยคนนักในหมู่พวกที่ยอมรับข้อถกเถียงแบบนี้ที่จะตระหนักว่าการกล่าวโทษมาร์กซ์เรื่องลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จก็เท่ากับเป็นการกล่าวโทษจารีต (ปรัชญาการเมือง ผู้แปล) ตะวันตกในตัวมันเอง ว่าจะนำไปสู่ปลายทางแห่งความโหดร้ายของการปกครองรูปแบบใหม่นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครก็ตามที่วิจารณ์มาร์กซ์ก็กำลังวิจารณ์จารีตของความคิดตะวันตกเช่นกัน…”
          อาเรนด์กล่าวว่าเราต้องพูดถึงมาร์กซ์อย่างจริงจัง เพราะเขาเป็นผู้ที่พยายามจะต่อสู้กับวิกฤติพื้นฐานของยุคสมัยใหม่ นั่นคือปัญหาของแรงงานและประวัติศาสตร์ นี่คือจุดที่ทำให้ความคิดมาร์กซ์สำคัญสำหรับอาเรนด์ มาร์กซ์ให้ความสนใจอย่างแม่นมั่นต่อคำถามทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของเขา มันไม่ใช่ว่างานเขียนของมาร์กซ์เป็นสิ่งที่แตกหักจากจารีตของปรัชญาการเมืองตะวันตกและเปิดพื้นที่ให้กับลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ ตรงกันข้าม อาเรนด์เขียนว่า เราอาจถกเถียงว่าสายธารแห่งจารีตของพวกเราถูกทำให้แตกหัก ในแง่ที่การจัดประเภททางการเมืองแบบจารีตไม่เคยมีความหมายในสถานการณ์ดังกล่าว สถานการณ์ที่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ความเสมอภาคทางการเมืองถูกขยายไปสู่ชนชั้นแรงงาน

          มาร์กซ์มองว่าแรงงานกำลังประสบกับความเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สำคัญ แหล่งที่มาของความมั่งคั่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปและรวมไปถึงแหล่งกำหนดของคุณค่าทางสังคมก็เช่นเดียวกัน มนุษย์ทุกคนในสังคมทุนนิยมล้วนถูกเปลี่ยนไปสู่การเป็นผู้ใช้แรงงานในไม่ช้าก็เร็ว มาร์กซ์มองชนชั้นผู้ใช้แรงงานในฐานะกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์ที่เข้าร่วมในการต่อสู้เพื่อปลดแอกและเพื่อความยุติธรรมทางสังคม อาเรนด์กล่าวว่าสิ่งที่มาร์กซ์มองไม่เห็นคือการที่ความปรารถนาต่อการปลดแอดและความยุติธรรมทางสังคมเป็นสิ่งที่ใช้ได้กับเฉพาะปัจเจกบุคคลในยุคสมัยใหม่เท่านั้น และใช้การไม่ได้สำหรับกลุ่มทางสังคมอื่นใด ในการอ่านมาร์กซ์ของอาเรนด์ เธอไม่เพียงมองเห็นแค่เงื่อนไขของแรงงานเท่านั้น แต่ยังมองเห็นชุดคุณค่าทางสังคมที่สอดคล้องกันซึ่งจะนำมาสู่การกำหนดนิยามลักษณะทางสังคมด้วยกิจกรรมการใช้แรงงาน ในการยกสถานะให้กับแรงงานของมาร์กซ์ อาเรนด์มองเห็นการลบเลือนภาพการทำงาน อาชีพและกิจกรรมแบบอื่นๆ ของมนุษย์ให้หายไป
          มาร์กซ์นำเอาทัศนะแบบกำหนดนิยมของประวัติศาสตร์มาจากเฮเกล และอาเรนด์เน้นย้ำว่าถึงแม้จะมีปัญหาในกรอบการวิเคราะห์นี้ แต่มันก็พิสูจน์ว่ามาร์กซ์เองเป็นหนี้อย่างลึกซึ้งต่อจารีตความคิดของตะวันตก ผลลัพธ์ของเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะตั้งแต่นั้นมาร์กซ์ก็กลายเป็นจุดเชื่อมต่อในสายธารของจารีตที่แตกหักซึ่งสูญเสียอำนาจไปในศตวรรษที่ยี่สิบ มาร์กซ์เป็นนักคิดที่เราสามารถมองย้อนกลับไปหาเพื่อที่จะคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับคำถามว่าลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จปรากฏขึ้นได้อย่างไร เขาไม่ได้เป็นผู้ให้กำหนดลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่งานของเขาถือเป็นป้ายบอกทางที่เราจำเป็นต้องลดความเร็วลงเพื่ออ่าน เพื่อจะทำความเข้าใจว่าเรากำลังจะเดินไปในเส้นทางใด อาเรนด์เขียนว่า
          สำหรับเรา ลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จได้กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญของยุคสมัยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และดังนั้นการแตกหักกับจารีตจึงเป็นผลลัพธ์ที่ไม่อาจย้อนกลับได้ เพราะมาร์กซ์สนใจต่อข้อเท็จจริงเบื้องต้นใหม่ๆ จำนวนหนึ่งที่จารีตเดิมไม่ได้มีกรอบการคิดวิเคราะห์เอาไว้ให้ ความสำเร็จหรือล้มเหลวของมาร์กซ์จึงทำให้เราสามารถตัดสินความสำเร็จหรือล้มเหลวของตัวจารีตปรัชญาตะวันตกในตัวมันเองได้จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ กระทั่งก่อนที่มาตรฐานทางศีลธรรม กฎหมาย ทฤษฎี และภาคปฏิบัติ พร้อมทั้งสถาบันการเมืองและรูปแบบขององค์กรของมันจะพังทลายลงอย่างน่าตื่นตา การที่มาร์กซ์ยังคงมีอิทธิพลอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันของเราก็เป็นตัวชี้วัดถึงความยิ่งใหญ่ของเขา การที่เขาอาจจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ของลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จ (แม้เป็นที่ชัดเจนว่ามาร์กซ์ไม่สามารถถูกเรียกว่าเป็น สาเหตุของมันได้ก็ตาม) ก็ถือเป็นสัญญาณของความสำคัญอย่างแท้จริงของความคิดเขา ถึงแม้ว่ามันก็ยังเป็นตัวชี้วัดถึงความล้มเหลวของเขาในเวลาเดียวกัน
          ในข้อความนี้เราเห็นการยกย่องความคิดของมาร์กซ์จากอาเรนด์ รวมทั้งความสับสนของเธอที่มีต่อความคิดของเขา ความยิ่งใหญ่ของมาร์กซ์คือการปรับตัวต่อโลกที่เขามีชีวิตอยู่ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไป และนี่ถือเป็นคุณธรรมความสามารถที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่นักคิดทางการเมืองคนหนึ่งสามารถมีได้




[1] บทความแปลชิ้นนี้ถือเป็นร่างแรกที่ยังไม่ผ่านการแก้ไขปรับปรุงภาษาใดๆ ดังนั้นหากมีความผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้  - แปลจากบทความ Arendt & Marx (ที่มา: https://medium.com/amor-mundi/arendt-marx-c53301d57f11 , เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561) 
[2] Assistant Director of the Hannah Arendt Center for Politics and Humanities, and Visiting Assistant Professor of Political Studies at Bard College

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น