วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

“Who run(s) the world?” and its problems

                                                   “Who run(s) the world?” and its problems*

                                                                                                                       ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี**
                                                                                                                      ธรรมชาติ กรีอักษร
***


                “Who run(s) the world?” คือคำถามสำคัญในการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศกระแสหลักมาเป็นเวลายาวนาน ใคร (who?) ในความเข้าใจทั่วไปมักมีความหมายที่เฉพาะเจาะจงถึงประเทศหรือรัฐเป็นสำคัญ คำถามดังกล่าวจึงวางอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า รัฐ’ (state) คือตัวแสดงหลักของการเมืองระหว่างประเทศ แม้ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลักจะมีสมมติฐานและข้อเสนอที่แตกต่างหลากหลาย แต่คำถามสำคัญที่ทฤษฎีต่าง ๆ ดังกล่าวไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ รัฐใดกันแน่ที่เป็นผู้กุมอำนาจ เช่น จากมุมของทฤษฎีสภาพจริงนิยมดั้งเดิม (classical realism) เชื่อว่าธรรมชาติที่เห็นแก่ตัวและแสวงหาอำนาจของรัฐ ทำให้นิยามของการเมืองระหว่างประเทศ เป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างตัวแสดงเท่านั้น และภายใต้เงื่อนไขของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ดังกล่าว อาจทำให้เกิดสมดุลของอำนาจซึ่งนำไปสู่การป้องกันสงครามและความเสียหายจากการถูกโจมตีในรูปแบบต่าง ๆ ได้[1] 
                การตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวนอกจากจะปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปในวงวิชาการแล้ว ยังพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่สาธารณะด้วย ช่วงหลายปีมานี้การนำเสนอข่าวต่างประเทศ มักให้ความสนใจกับการตั้งคำถามว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจนำในเวทีการเมืองโลกได้หรือไม่ ประเทศใดจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนที่สหรัฐ และสหรัฐจะสามารถรักษาสถานะของการเป็นมหาอำนาจไว้ได้หรือไม่ในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ฯลฯ[2] แม้สื่อจะแสดงตัวว่าเป็นกลางและปราศจากอคติ แต่การนำเสนอข่าวเหล่านี้ล้วนแต่แฝงสมมติฐานล่วงหน้าหรือทฤษฎีที่มองไม่เห็น (Implicit theory) ไว้ในวิธีการตั้งคำถามเวลานำเสนอข่าวทั้งสิ้น กล่าวคือ การตั้งคำถามว่ารัฐใดเป็นผู้กุมอำนาจเช่นนี้ มักบดบังและเบี่ยงเบนความสนใจของเราไปสู่การหาคำตอบให้แก่คำถามดังกล่าวเพียงอย่างเดียว จนทำให้เราหลงลืมไปว่าการเมืองโลกยังมีแง่มุมสำคัญอื่น ๆ ที่ควรได้รับการใส่ใจและศึกษา เพื่อให้ความเข้าใจต่อการเมืองระหว่างประเทศมีความครอบคลุมและซับซ้อนยิ่งขึ้น
                บทความนี้มุ่งตั้งคำถามกับสมมติฐานล่วงหน้า (preconception) ที่แฝงอยู่ในการตั้งคำถามลักษณะดังกล่าว โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกมุ่งตั้งปัญหากับวิธีคิดเรื่องตัวแสดงระหว่างประเทศกระแสหลัก ว่าไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการเมืองโลก เนื่องจากวิธีคิดดังกล่าวจำกัดความเข้าใจไว้ที่รัฐหรือประเทศเท่านั้น และไม่เปิดพื้นที่ให้กับตัวแสดงหรือองค์ประกอบแบบอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งกำลังขับเคลื่อนการเมืองโลกอยู่ในขณะนี้เช่นกัน ส่วนที่สอง บทความนี้พยายามชี้ให้เห็นว่า การตั้งคำถามว่ารัฐใดเป็นผู้กุมอำนาจนั้น ทำให้เราจดจ่ออยู่กับสถานะของรัฐ จนไม่เห็นเงื่อนไขหรือกระบวนการขึ้นสู่อำนาจของตัวแสดง กล่าวคือ การตั้งคำถามว่า “ใคร” ทำให้เราลืมสงสัยไปว่าตัวแสดง “ทำอย่างไร(how)” เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนำ ส่วนสุดท้ายจะเป็นการทดลองวิพากษ์การตั้งคำถามดังกล่าวโดยจับปรากฏการณ์ของการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้คือการขึ้นมาท้าทายสถานะมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกาโดยประเทศจีนว่ามีข้อจำกัดและจุดอ่อนอย่างไรจากการตั้งคำถามในลักษณะข้างต้น ถึงที่สุดแล้ว บทความนี้มุ่งตั้งปัญหาว่า “ใคร(who)” ในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงรัฐเพียงอย่างเดียว และมุ่งตั้งคำถามว่านอกจากรัฐและองค์การอื่น ๆ ที่ถูกนับว่าเป็น “ตัวแสดง” ในการเมืองโลกแล้ว ยังมี “อะไร(what)” เป็นปัจจัยนามธรรมที่กำลังขับเคลื่อนโลกอยู่หรือไม่ 

Who and What: ว่าด้วยตัวแสดง

                จากมุมมองของทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลัก ถึงแม้ทฤษฎีแต่ละสำนักจะมีความต่างกันในเชิงรายละเอียดของคำอธิบาย จุดยืนและข้อเสนอต่อการเมืองระหว่างประเทศ แต่จุดร่วมสำคัญประการหนึ่งที่ทฤษฎีกระแสหลักอย่าง classical realism, structural realism และ liberalism มีร่วมกัน คือการมองและจัดให้รัฐ (state) เป็นตัวแสดงหลักของการเมืองระหว่างประเทศ หรือที่มักเรียกกันว่ารัฐนิยม (statism) กล่าวคือ ในขณะที่ความแตกต่างสำคัญระหว่าง classical realism กับ structural realism อยู่ที่สภาพจริงนิยมดั้งเดิมมองว่าพฤติกรรมของรัฐนั้นเป็นผลมาจากธรรมชาติของมนุษย์ แต่สภาพจริงนิยมแบบโครงสร้างกลับมองว่าความต้องการอำนาจของรัฐเป็นผลมาจากโครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมของระบบระหว่างประเทศที่ผลักให้รัฐต้องแสวงหาอำนาจมากกว่ามองว่าเป็นผลจากธรรมชาติของมนุษย์[3] แต่ถึงกระนั้นจุดร่วมของทั้งสองทฤษฎีก็คือรัฐยังคงเป็นตัวแสดงหลักในการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องให้ความสำคัญในการวิเคราะห์อยู่ดี ในขณะที่เสรีนิยมนั้นแม้จะเสนอคำอธิบายธรรมชาติของรัฐที่ต่างออกไปจากสองสำนักข้างต้น โดยเชื่อว่ารัฐมีแนวโน้มร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมได้ผ่านการรวมตัวในลักษณะต่างๆ เช่น องค์กรระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ แต่คำอธิบายดังกล่าวก็ยังวางอยู่บนการมองว่ารัฐเป็นตัวแสดงหลักอยู่เช่นเดิม
                อิทธิพลของทฤษฎี IR กระแสหลักข้างต้นต่อการให้สถานะที่สำคัญแก่รัฐในการเมืองระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อมุมมองของวงวิชาการ สื่อสารมวลชน ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนทั่วไปในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆของการเมืองโลก อย่างไรก็ตามอิทธิพลดังกล่าวส่งผลให้เกิดข้อจำกัดต่อการวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศอย่างน้อย 3 ประการ  
                ประการแรก คือการละเลยตัวแสดงอื่นภายนอกที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors)  เช่น บทบาทขององค์การระหว่างประเทศ แม้ว่าในวงวิชาการจะมีการศึกษาองค์การระหว่างประเทศมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว แต่การศึกษาความสำคัญขององค์การระหว่างประเทศกลับถูกจำกัดและบดบังด้วยอิทธิพลของการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศกระแสหลักที่ให้ความสนใจกับรัฐเป็นหลัก ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ องค์การระหว่างประเทศถูกมองเป็นเพียงตัวแสดงรองซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองของผลประโยชน์ของรัฐเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่องค์การระหว่างประเทศมีบทบาทอิสระเป็นของตัวเองในการนำเสนอวาระทางการเมือง หรือกระทั่งกำหนดผลประโยชน์และบทบาทของรัฐด้วยซ้ำ[4] นอกจากความสำคัญขององค์การระหว่างประเทศจะถูกบดบังแล้ว ปัญหาจำนวนมากที่มาจากบทบาทของตัวแสดงภายนอกอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐยังไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควรอีกด้วย เช่น ขบวนการอาชญากรข้ามชาติ ขบวนการค้ามนุษย์ และขบวนการก่อการร้าย ที่ถูกมองว่าเป็น “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่(non-traditional threat)”[5] เป็นต้น แม้ว่าประเด็นเหล่านี้จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในวงการวิชาการและในพื้นที่สาธารณะหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา แต่การมองรัฐเป็นตัวแสดงหลักก็ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากจนไม่อาจปฏิเสธได้
                ประการที่สอง คือการละเลยตัวแสดงและการเมืองภายในของรัฐ (internal agencies and domestic politics) อันเป็นผลมาจากการแบ่งแยกความต่างระหว่างการเมืองภายนอกกับภายในรัฐโดยมองว่าการเมืองระหว่างประเทศมีสภาพเป็นอนาธิปไตย ไร้ระเบียบกฎเกณฑ์และเต็มไปด้วยการคุกคาม ในขณะที่การเมืองภายในรัฐนั้นมีสภาพความลดหลั่น มีสิทธิอำนาจที่ชอบธรรม มีการเจรจาประนีประนอม และมีความเป็นชุมชน[6] ที่กลมกลืนและเป็นเอกภาพ มุมมองเช่นนี้ได้นำไปสู่ความเชื่อว่าผู้ถือครองอำนาจภายในรัฐเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศของรัฐนั้น ๆ ซึ่งทำให้ละเลยความเป็นจริงที่ว่า รัฐต่างๆเองล้วนมีการเมืองภายในระหว่างตัวแสดงต่างๆที่มีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันได้ และนำไปสู่การช่วงชิงอำนาจในการกำหนดทิศทางของกติกาและนโยบายระหว่างประเทศของรัฐที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เช่นกระบวนการและการเมืองของระบบราชการที่ย่อมมีส่วนสำคัญในการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติและเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างจากกลุ่มผู้นำในระดับชาติได้[7]
                ประการที่สาม การมองรัฐเป็นตัวแสดงหลักของการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้เรามักจะละเลยความสำคัญของอะไรบางอย่างที่มีลักษณะนามธรรมที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของตัวแสดงต่างๆในการเมืองระหว่างประเทศรวมทั้งรัฐเองก็ตาม กล่าวคือการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศแบบเดิม/กระแสหลักมักให้ความสำคัญกับอำนาจในลักษณะที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ (materialism) เช่น อำนาจในทางการทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่กลับละเลยไม่ใส่ใจกับอำนาจในลักษณะที่เป็นนามธรรมที่ทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมหรือส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของรัฐ เช่น วัฒนธรรม หลักการ วาทกรรม ระเบียบอำนาจนำ ชุดคุณค่าและอุดมการณ์ต่างๆ ฯลฯ[8]   
               

How: ว่าด้วยวิธีการ

 “การสร้างความยินยอม (อำนาจนำ) ไม่เคยเป็นเรื่องที่ทำได้โดยง่ายดาย
แต่มักเป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมและแบบแผนทางวัฒนธรรม
ซึ่งบงการพฤติกรรมของคนแต่ละกลุ่มและภาคปฏิบัติการของแต่ละสถาบัน

                                                                                        --
Amine Zidouh

                การตั้งคำถามในลักษณะที่จดจ่ออยู่กับสถานะอำนาจนำของรัฐหรือให้ความสนใจหลักว่ารัฐใดเป็นผู้กุมอำนาจนำในการเมืองระหว่างประเทศในแต่ละช่วงเวลา ส่งผลให้คนที่ตกอยู่ภายใต้กรอบของคำถามดังกล่าวถูกบดบังจนมองไม่เห็นสิ่งที่มีสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือเงื่อนไขและกระบวนการที่ทำให้การขึ้นสู่อำนาจของตัวแสดงดังกล่าวสำเร็จหรือเป็นไปได้ กล่าวคือการตั้งคำถามว่า “ใคร(who)” ทำให้มักมองข้ามหรือละเลยคำถามว่า “ทำอย่างไร(how)” ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าใจการเมืองระหว่างประเทศ เพราะสถานะของมหาอำนาจหรืออำนาจนำของรัฐต่างๆนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ หรือเกิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป แต่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการทางประวัติศาสตร์ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงต่างๆและการสร้างชุดคุณค่าหรือระเบียบในเชิงนามธรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับสถานะอำนาจนำดังกล่าว 
                 ในงานเรื่อง Liberal Leviathan: The Origins, Crisis, and Transformation of the American World Order ของ John Ikenberry คือตัวอย่างที่ดีของพยายามจะตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าว (how) และตอบคำถามอย่างเป็นระบบ โดยการการสำรวจสถานะอำนาจของประเทศที่ถูกรับรู้ร่วมกันว่าเป็นมหาอำนาจของโลกมาตั้งแต่หลังสงครามเย็นอย่างสหรัฐอเมริกา Ikenberry ทำให้เราเห็นว่า สถานะอำนาจนำในการเมืองโลกของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นผลมาจากสิ่งที่เขาเรียกว่า ระเบียบอำนาจนำแบบเสรีนิยม (liberal hegemonic order) ซึ่งสำหรับเขาแล้วอเมริกาถือได้ว่าเป็นหนึ่งในรัฐที่สร้างระเบียบในการเมืองระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และที่ผ่านมาอเมริกาก็รับภาระหน้าที่ทั้งในการสร้างและขับเคลื่อนระเบียบชุดนี้ โดยการจัดวางมันไว้ผ่านกลไกทางสถาบันแบบพหุภาคี การสร้างพันธมิตร ความสัมพันธ์แบบพิเศษและอื่นๆ เขากล่าวด้วยว่าสาเหตุที่ทำให้อเมริกาประสบความสำเร็จอย่างมากนั้นเป็นเพราะอเมริกาสามารถประสานการใช้อำนาจของตนเองเข้ากับการสนับสนุนระเบียบแบบแผนที่วางอยู่บนกฎเกณฑ์กติกาได้ เพราะสำหรับ Ikenberry แล้วอำนาจจะมั่นคงและมีความชอบธรรมมากที่สุดในเวลาที่มันทำงานอยู่บนระบบของกฎเกณฑ์กติกา (rule-based) ซึ่งหนังสือเล่มนี้ของเขาก็ได้สำรวจและอภิปรายถึงที่มาที่ไปของระเบียบอำนาจนำดังกล่าว และการครองอำนาจนำในระเบียบนั้นของอเมริกา ทั้งในทางรากฐานทฤษฎี จุดเริ่มต้นในทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งวงจรของความเปลี่ยนแปลงของมัน[9]
                ประเด็นสำคัญที่ต้องการจะชี้ให้เห็นก็คือหนังสือดังกล่าวก้าวพ้นไปมากกว่าแค่การวิเคราะห์รัฐในฐานะตัวแสดงหลักของการเมืองระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่หันไปให้ความสนใจสิ่งที่มีลักษณะนามธรรมอย่าง ระเบียบที่เรียกว่าระเบียบอำนาจนำแบบเสรีนิยมที่เป็นปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญต่อการขึ้นก้าวไปเป็นประเทศมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงเท่านั้นหนังสือดังกล่าวยังให้ความสำคัญกับกระบวนการและวิธีการ (how) ในการได้มาซึ่งสถานะอำนาจนำด้วยเช่นกัน ทั้งจุดกำเนิดที่มา ความเปลี่ยนแปลง จุดอ่อนและข้อจำกัด และยังสามารถพูดถึงแนวโน้มความน่าจะเป็นในอนาคตของทั้งตัวระเบียบและสถานะอำนาจนำของอเมริกาได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าช่วยทำให้เรามองเห็นและเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างลึกซึ้งและสลับซับซ้อนมากขึ้น   


ตัวอย่างการวิเคราะห์: จีนกับการท้าทายสถานะอำนาจนำของสหรัฐอเมริกา

เมื่อเห็นปัญหาเชิงทฤษฎีทั้งหมดที่มากับการตั้งคำถามแบบกระแสหลักข้างต้นแล้ว หากลองนำกรอบการพิจารณาดังกล่าวมาจับกับปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นในการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะกับกรณีเรื่องการก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจของจีนที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย จะพบว่าวิธีการมองประเด็นดังกล่าวที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งให้ความสำคัญกับตัวแสดงรัฐเพียงอย่างเดียวนั้นมีข้อจำกัดอย่างมาก สื่อต่าง ๆ มักให้ความสนใจกับการก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจของจีนในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย แต่พร้อมกันนั้นความสนใจในเรื่องดังกล่าวกลับจำกัดอยู่ที่คำถามไม่เพียงกี่คำถาม เช่น จีนจะขึ้นมาแทนที่สหรัฐได้หรือไม่ หรือสหรัฐจะรักษาสถานะของตนไว้อย่างไรเมื่อจีนกำลังตีตื้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านการทหาร ในปัจจุบัน สื่อมักรายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของจีน ที่มักมาคู่ขนานกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาที่เพิ่งฟื้นตัวขึ้นหลังจากต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008  เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว Business Insider รายงานว่า ปริมาณกำลังซื้อของจีนแซงหน้าสหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว นอกเหนือจากการรายงานข่าวดังกล่าว[10] สื่ออื่น ๆ มักคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าสหรัฐได้จริง ๆ ในทุกด้านภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า[11] นอกเหนือจากเรื่องการแข่งขันกันพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศแล้ว สื่อยังรายงานข่าวด้านความมั่นคงแบบกระแสหลัก ที่มุ่งไปที่การพัฒนาอาวุธของอเมริกา โดยมีข่าวการพัฒนาอาวุธของจีนแซมอยู่บ้าง[12]
แม้ประเด็นด้านเศรษฐกิจจะเพิ่มความสำคัญขึ้นในโลกยุคหลังสงครามเย็น พร้อม ๆ กับที่ประเด็นด้านความมั่นคงลดความสำคัญลง[13] แต่คำถามเกี่ยวกับความเป็นไปของการเมืองโลกยังคงวนเวียนอยู่กับคำถามเดิม ๆ คือ รัฐใดจะเป็นผู้กุมอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ ความสนใจเกี่ยวกับบทบาทของจีนและอเมริกาจึงยังคงจำกัดอยู่เพียงมิติด้านเศรษฐกิจและการทหาร จนทำให้ลืมความซับซ้อนของประเด็นความเป็นไปที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองโลก
คำถามว่าจีนจะขึ้นมาแทนสหรัฐได้หรือไม่นั้น ไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยการมองประเด็นด้านเศรษฐกิจและการทหารเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาอำนาจในรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากอำนาจเชิงในเชิงรูปธรรมที่จับต้องได้ด้วย เช่น ต่อให้จีนมีอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจเหนือสหรัฐจริง รัฐอำนาจนิยมจีนจะมีความชอบธรรมในการก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจหรือไม่ เมื่อระเบียบของโลกปัจจุบันมีคุณค่าหลักแบบเสรีประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับและส่งเสริมอยู่ทั่วไป ? แม้ว่าจีนจะพยายามสร้างอำนาจแบบอ่อน (soft power) ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพยายามนิยามการเติบโตทางอำนาจของตนว่าเป็นการเติบโตอย่างสันติ (Peaceful Rise)[14] แต่จีนก็ไม่สามารถเข้าไปแก้ปมซึ่งเป็นใจกลางของปัญหาได้ และได้รับการโจมตีอยู่เนือง ๆ จากโลกตะวันตกในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออก อำนาจเชิงอุดมการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าโลกได้เข้าสู่ห้วงเวลาที่ Francis Fukuyama เรียกว่า จุดจบของประวัติศาสตร์ (the end of history) กล่าวคือ โลกหลังยุคสงครามเย็นเป็นช่วงเวลาที่การต่อสู้ทางอุดมการณ์ได้จบลงแล้วด้วยชัยชนะอุดมการณ์แบบเสรีนิยมประชาธิปไตย[15] ซึ่งอเมริกามีส่วนอย่างมากในการทำให้เกิดระบอบความจริงเช่นนี้ขึ้นมา หากข้อเสนอของ Francis Fukuyama ถูกต้องว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตย จีนก็ไม่มีทางชนะอเมริกาได้ เพราะสนามการต่อสู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่ยังรวมไปถึงแนวรบด้านความคิดและอุดมการณ์ด้วย
ขณะเดียวกัน เรามักหลงลืมไปว่าการขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจของแต่ละรัฐนั้น มีกระบวนวิธีการขึ้นสู่อำนาจที่แตกต่างกัน และยังมีระบอบสถาบันและบริบทเงื่อนไขที่รายล้อมมหาอำนาจอยู่ต่างกันด้วย เช่น การเป็นมหาอำนาจของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 หรือที่เรียกว่า Pax Britanica นั้นเกิดขึ้นได้ภายใต้บริบทของการล่าอาณานิคม โดยมีที่ประชุมแห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังสงครามนโปเลียน เป็นสถาบันที่ชอบธรรมในการรักษาดุลอำนาจกับรัฐอื่น ๆ ในยุโรป ส่วนกรณีของอเมริกานั้น การก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจนั้นเกิดขึ้นได้เนื่องจากรูปแบบสถาบันแบบเก่าล่มสลายลงไปพร้อมกับอำนาจนำของประเทศในยุโรปเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองครั้งสิ้นสุดลง ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งสหประชาชาติ และการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียต ซึ่งทำให้คุณค่าเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้รับการยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากสถาบันระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิมและเกิดขึ้นใหม่อย่างเป็นสากล หากมองภายใต้กรอบเช่นนี้ จะพบว่าจีนแทบไม่สามารถก้าวขึ้นมา “แทนที่” อเมริกาได้เลย ในความหมายที่การขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจเป็นเพียงการสลับตำแหน่งกันระหว่างแต่ละรัฐภายใต้เงื่อนไขสถาบันแบบเดิม แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จีนต้องก้าวขึ้นสู่อำนาจพร้อมกับบริบทและสถาบันการเมืองระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบอบไม่ใช่เรื่องง่าย หรือสามารถกระทำได้ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจหรือกำลังการทหารเพียงอย่างเดียว
การวิเคราะห์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าวิธีการมองโลกซึ่งมาพร้อมกับคำถามว่า “ใคร” เป็นผู้ขับเคลื่อนโลก มีข้อจำกัดต่อการทำความเข้าใจการเมืองโลกอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เห็นพลวัตของอำนาจรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งเป็นนามธรรมแล้ว ยังทำให้ไม่เห็นเงื่อนไขและสถาบันที่รายล้อมและกำกับตัวแสดงที่เป็นรัฐอยู่ แทนที่จะถามคำถามดังกล่าว ผู้ที่สนใจการเมืองโลกอาจต้องลองเปลี่ยนวิธีการมองโลกโดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า เงื่อนไขแบบใดที่ทำให้ตัวแสดงหนึ่ง ๆ มีอำนาจ แล้วจึงวิเคราะห์อำนาจรูปแบบต่าง ๆ อย่างรอบด้าน
กล่าวโดยสรุปเป้าหมายหลักของบทความนี้อยู่ที่ความพยายามชี้ชวนให้คิดถึงความซับซ้อนในการตั้งคำถามและวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ  ว่าไม่เพียงพอหากจะจำกัดอยู่เพียงแค่การพิจารณาไปที่ตัวแสดงหลักอย่างรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตระหนักว่ายังคงมีตัวแสดงอื่นๆที่สำคัญ -ทั้งภายในและภายนอก-นอกเหนือจากรัฐ รวมทั้งยังมีสิ่งที่มีลักษณะนามธรรมที่ไม่ใช่ตัวแสดงอย่างระเบียบ กฎเกณฑ์กติกา หลักการ ชุดคุณค่าและอุดมการณ์ ที่ส่งอิทธิพลต่อความเป็นไปของการเมืองโลก และอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือต้องให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามในลักษณะของ อย่างไรมากกว่าแค่ ใครหรือ อะไรเพียงเท่านั้น เนื่องด้วยการตั้งคำถามในลักษณะอย่างไรจะช่วยให้เราสามารถมองเห็นและวิเคราะห์กระบวนการ ที่มาของอำนาจ วิกฤติ จุดอ่อนจุดแข็ง และแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางและซับซ้อนกว่าการมองเห็นแต่ ใครหรือ อะไรเพียงอย่างเดียว 



* บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อใช้สำหรับการตีพิมพ์เผยแพร่ในงานรัฐศาสตร์วิชาการปี 2557 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  
** บัณฑิตระดับปริญญาตรี สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
*** นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภาคภาษาอังกฤษ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[1] Ned Lebow, Richard, “Classical Realism”, International Relations Theories: Discipline and Diversity, 2nd edition, Oxford University Press, p62-63.
[2] ตัวอย่างเช่น “จีนแซงหน้าสหรัฐ ฯ ขึ้นแท่นเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก,Voice TV, October 9, 2014, (http://shows.voicetv.co.th/voice-world-wide/120268)

[3] J. Mearsheimer, John, “Structural Realism”, International Relations Theories: Discipline and Diversity, 2nd edition, Oxford University Press, p78.
[4] Barnet, Michael, and Sikkink, Kathryn, “From International Relations to Global Society” in Oxford Handbook in International Relations, p71.
[5] น่าสนใจว่ากระแสความสนใจต่อ “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” เช่นนี้เป็นมุมมองที่อยู่ภายใต้กรอบแบบรัฐเป็นศูนย์กลางหรือไม่ เช่น กรณี 9/11 ที่สหรัฐ ฯ ให้ความสำคัญอย่างมากนั้น  แม้ว่าขบวนการก่อการร้ายจะได้รับความสำคัญอย่างมากในฐานะตัวแสดงใหม่ที่ไม่ใช่รัฐ แต่การให้ความสำคัญเช่นนี้ยังอยู่ภายใต้กรอบที่มองรัฐเป็นศูนย์กลางอยู่ดี เนื่องจากการให้ความสนใจกับตัวแสดงใหม่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อตัวแสดงใหม่ ๆ เป็นภัยคุกคามต่อรัฐเท่านั้น นอกจากการก่อร้ายแล้ว ประเด็นอื่น ๆ ที่สะท้อนผลประโยชน์และภัยคุกคามต่อรัฐยังรวมถึงภัยคุกคามอื่น ๆ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น
[6] อ้างแล้วใน Barnet, Michael, and Sikkink, Kathryn, p65.
[7] D. Krasner, Stephen, “Are Bureaucracies Important? (Or Allison Wonderland),” in American Foreign Policy: Theoretical Essays, 5th Edition, Pearson Education, Inc, p447. 
[8] อ้างแล้วใน Barnet, Michael, and Sikkink, Kathryn, p68.
[9] ดูเนื้อหาและรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ Ikenberry, John,  Liberal Leviathan: The origins, Crisis, and Transformation of the American World Order, 1st edition , Princeton University Press.

[10] “China Just Overtook The US As The World's Largest Economy,” Business Insider, October, 8, 2014  (http://www.businessinsider.com/china-overtakes-us-as-worlds-largest-economy-2014-10)
[11] ตัวอย่างเช่น “ชี้อีก6ปีเศรษฐกิจจีนแซงหน้าสหรัฐ,Daily News,  January, 9, 2013 (http://www.dailynews.co.th/Content/foreign/49958/%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%816%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%8B%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90)  
[12]  ตัวอย่างเช่น “สหรัฐฯหวั่นจีนพัฒนาอาวุธลับอย่างรวดเร็ว, ไทยรัฐ, January 10, 2011 (http://www.thairath.co.th/content/140328)
[13] Huntington, Samuel, “Why International Primacy Matters,International Security, 18 (4) อ้างถึงใน Baru Sanjaya, “Understanding Geo-economics and Strategy,” ใช้ในงานเสวนา ‘International Insurance Society’s Seminar: A New Era of Geo-economics: Assessing the Interplay of Economic and Political Risk,’ 23-25 March, 2012 (http://www.iiss.org/-/media/Images/Events/conferences%20from%20import/seminars/papers/64319.pdf)
[14] Bonnie Claser and Evan Medeiros, “The Changing Ecology of Foreign Policy Making in China: The Ascension and Demise of the Thoery of ‘Peaceful Rise’,” China Quaterly 190(2007): 291-310; Dai, “Stick to the Path of Peaceful Development”. อ้างถึงใน Sutter, Robert G., “Introduction,” Chinese Foreign Relations: Power and Policy since the Cold War, 3rd Edition, Rowman&Littlefield Publishers, Inc, p11.
[15] Fukuyama, Francis, “The End of the History and the Last Man,” Hamish Hamilton, London, p271. อ้างถึงในสรวิศ ชัยนาม, Children of Men: ภาวะหลังการเมืองและสัจนิยมแบบทุน,” จากโลกาภิวัตน์ถึงการปฏิวัติ: ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์, p76

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น