วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

พ.ร.บ.เหมาเข่ง: เพื่อไทย การให้อภัย และประชาธิปไตย

"พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง" ที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรนั้นส่งผลให้เกิดแรง ต่อต้านจากสังคมอย่างกว้างขวางและจากหลายภาคส่วน บทความชิ้นนี้เสนอข้อคิดเห็นเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยในส่วนแรกนั้น บทความชิ้นนี้จะอภิปรายถึงการสลายภาพลักษณ์ของความเป็นพรรคตัวแทนมวลชนเพื่อ ประชาธิปไตยของเพื่อไทยอันเกิดจากการผลักดัน พรบ. ฉบับเจ้าปัญหา โดยในส่วนต่อมาของบทความมุ่งที่จะเสนอหลักการและเหตุผลของการสร้างสังคมการ เมืองหลังการฆ่าผ่านการสร้างกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ สองส่วนแรกของบทความชิ้นนี้ได้อภิปรายถึงปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ (what is?) และปรากฏการณ์ที่ควรจะเป็น (what ought?) ในส่วนสุดท้าย บทความชิ้นนี้จะสรุปแนวโน้มของประชาธิปไตยไทยหลังจากการพยายามผ่าน พรบ. นิรโทษกรรมในครั้งนี้

สลายความเป็นตัวแทนมวลชน

หลัง จากการรัฐประหารปี 2549 นั้นมวลชนผู้นิยมประชาธิปไตยได้ถูกผลักให้รวมตัวกันต่อต้านอำนาจเผด็จการ โดยมีพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนของภาพลักษณ์ของการต่อต้าน อำนาจเผด็จการและรัฐประหารมาโดยตลอด อย่างไรก็ดีหลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้ผ่าน พรบ. นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งนั้น ภาพลักษณ์ในฐานะพรรคมวลชนผู้นิยมประชาธิปไตยได้เริ่มถูกสั่นคลอนและเริ่มขาด เอกภาพในเชิงอุดมการณ์อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแนวทางการนิรโทษกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติที่แท้จริงของพรรค เพื่อไทยซึ่งในขณะเดียวกันภาพลักษณ์ที่เริ่มจะเปลี่ยนแปลงไปในสายตามวล ชนกลับส่งผลให้ฐานมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้มแข็งขึ้นมาก

หาก เปรียบเทียบส่วนได้ส่วนเสียของพรรคเพื่อไทยกับปชป.จะพบว่า ปชป. ได้เปรียบอย่างมากด้วยสาเหตุอย่างน้อยสองประการ ประการแรก ปชป. ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเดินออกจากสภาโดยไม่ช่วยยกมือโหวตคัดค้านการ ผ่านร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฉบับของวรชัย ที่ถูกแปรญัตติเกินเลยไปจากหลักการ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้ว่าจะสามารถพูดได้ว่าเป็นการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ต่อความไม่เป็นธรรมของ การกระทำดังกล่าว แต่นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการเดินเกมอย่างละเมียดละไมของพรรค ปชป. ในการรักษาฐานมวลชนของตัวเองเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็ยังรักษา “ซูเปอร์ดีล” และได้รับผลประโยชน์จากการที่ผู้นำพรรคของตัวเอง อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พ้นคดีสังหารหมู่ประชาชนในเหตุการณ์นองเลือดในเดือนเมษายน 2553 ด้วยเนื่องจากไม่ได้โหวตสวนในสภา โดยสรุปคือเราสามารถพูดได้ว่า ปชป. ได้ประโยชน์จากการพ้นคดีอีกทั้งยังไม่เสียมวลชน

ประการที่สอง นอกจาก ปชป. จะไม่เสียมวลชนแล้ว ยังได้รับประโยชน์จากการเพิ่มฐานมวลชนให้ตัวเองด้วย พรรคประชาธิปัตย์ได้วางยุทธศาสตร์กระชับอำนาจโดยหันมานำม็อบเข้าชุมนุมต่อ ต้าน พรบ. นิรโทษกรรม ในวันที่ 31 ต.ค. ได้นัดชุมนุมที่สามเสน และมีการยกระดับชุมนุมในวันที่ 4 พ.ย. แกนนำพรรคได้นำม็อบเคลื่อนย้ายไปที่ถนนราชดำเนินโดยมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวน มาก ในขณะที่แกนนำพรรคแสดงความจริงใจในการต่อสู้ทางกฎหมายโดยยืนยันว่าไม่เอา พรบ. นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งเพื่อเพิ่มฐานมวลชน แต่ ปชป.เองก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากแนวทางการนิรโทษกรรมของเพื่อไทยในครั้ง นี้

ในขณะเดียวกันเมื่อมองไปที่พรรคเพื่อไทยก็จะเห็นทั้งผู้ที่สนับ สนุนและต่อต้านบนฐานของความเห็นที่หลากหลาย เมื่อลองสรุปความเห็นว่าด้วยเรื่องนิรโทษกรรมของโอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายของทักษิณ ชินวัตรในวันที่ 27 ตุลาคม ในเฟซบุค ผู้เขียนพบว่าความเห็นถูกแบ่งออกเป็น 5 ฝ่ายหลัก ๆ ในสัดส่วนจำนวนคนที่พอ ๆ กันคือ
1. ผู้สนับสนุน พรบ. ดังกล่าวและอยากให้ทักษิณกลับบ้านเพื่อมาพัฒนาประเทศต่อ หรือจัดการกับฆาตกร
2. ผู้สนับสนุน พรบ. ดังกล่าวเนื่องจากเชื่อว่า การผ่าน พรบ. นี้จะทำให้นักโทษการเมืองถูกปล่อยออกมาเร็วที่สุด
3. ผู้ต่อต้าน พรบ. ดังกล่าว เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการกลับมาของทักษิณซึ่งทำให้เกิดการคอรัปชั่น
4. ผู้ต่อต้าน พรบ. ดังกล่าว เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่ พรบ. ดังกล่าวจะล้างโทษให้กับอภิสิทธิ์และสุเทพ ล้างผลพวงรัฐประหาร อีกทั้งยังไม่ได้รวมไปถึงนักโทษการเมืองที่ถูกจับภายใต้ข้อหาหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพมาตรา 112
5. ผู้ขอร้องให้เกิดการปรองดองกันโดยเร็ว หรือไม่สนใจว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ขอให้พัฒนาเศรษฐกิจก็พอ
หากมองว่าความเห็นของกลุ่มที่ 3 (เกลียดทักษิณอยู่แล้ว) และกลุ่มที่ 5 (ไม่สนใจการเมืองตั้งแต่แรกอยู่แล้ว) ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว จะพบว่าความเห็นของผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยแต่เดิมในปัจจุบันแตกออกเป็นสาม ฝ่าย และหลังจาก พรบ. เหมาเข่งผ่านสภาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หมายความว่าพรรคเพื่อไทยได้ตัดสินใจตัดมวลชนที่เคยสนับสนุนพรรคออกส่วนนึง (ฝ่ายที่ 4) เพื่อให้การผ่าน พรบ. เหมาเข่งดำเนินไปได้ ในขณะที่ภาพความไม่เคยเป็นเอกภาพของเสื้อแดงมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ได้นำเสื้อแดงจำนวนหนึ่งออกมาชุมนุมที่ถนนราชประสงค์ในช่วงที่ ผ่านมานำไปสู่การปลดรายการประชาชน 3.0 ของเขาจากผังรายการของ Asia Update ในวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

หากพิจารณาตามหลักการแล้ว เมื่อพรรคเพื่อไทยมีมติออก พรบ. เหมาเข่งโดยตัดใจทิ้งมวลชนผู้สนับสนุนไปกลุ่มหนึ่งเพื่อให้ทักษิณกลับบ้าน ย่อมหมายความว่า สส. ของพรรคเพื่อไทยปราศจากอำนาจในการตัดสินใจในพรรคเนื่องจากทั้ง ๆ ที่ สส. พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรงเนื่องจากเสียฐานคะแนน ด้วยเหตุนี้ พรรคเพื่อไทยจึงขาดลักษณะของความเป็นพรรคมวลชนเนื่องจาก สส. ผู้ที่มีอำนาจยึดโยงอยู่กับประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการเห็นแย้งกับพรรคและการ ตัดสินใจของพรรครวมศูนย์ไว้ที่ตัวผู้นำ กล่าวคือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ขยายภาพให้สังคมการเมืองได้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยมิ ได้ยึดโยงและกำกับโดยมวลชนอย่างที่เคยมีภาพลักษณ์มาก่อนหน้า ไม่เพียงเท่านี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังสร้างพลังให้แก่ ปชป. ในฐานะพรรคที่คอยชี้ให้เห็นถึงพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่เป็นพรรคที่มิได้ถูก กำกับโดยมวลชนด้วยเช่นกัน

จากที่ได้อภิปรายไปแล้วข้างต้น เมื่อลองพิจารณาถึงมวลชนนั้น กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและต่อต้าน คอรัปชั่น เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมประชาชน ต้องการให้นิรโทษคนที่โดนข้อหา 112 แต่ต้องการให้ผู้นำทางการเมืองถูกดำเนินคดีต่อไปเพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการ เมืองใหม่เป็นเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นในระบบการเมืองทั้งหมด (เรียกสั้น ๆ ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์) โดยพวกเขาจะต้องเจอกับเงื่อนไขข้อจำกัดมากมายเพื่อทำให้เป้าหมายทางการเมือง ของตัวเองสำเร็จ

ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์จึงทำอะไรไม่ได้มาก ไปกว่าการแสดงจุดยืนของตัวเองบนถนน และการเมืองบนถนนเป็นที่ยืนที่ไม่มีทางชนะ (No win situation) การอยู่บนถนนจะไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็น พรรคมวลชน หากจะออกมาตั้งพรรคเองเพื่อต่อสู้แกนนำของผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ ต้องเจอกับปัญหาว่า เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าไปแล้วก็ต้องมีผลได้ผลเสียกับกลุ่มอำนาจเดิมนำไป สู่การเจรจาที่ผลย่อมออกมาบิดเบือนไปจากความต้องการของประชาชนอีก ด้วยเหตุนี้ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์จึงไม่สามารถทำอะไรได้ไปมากกว่า การต่อสู้บนถนนและคงหยุดอยู่เพียงการต่อสู้บนถนน ทั้งนี้อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะเสียงของพวกเขาเป็นเพียงเสียงเดียวของทั้งหมด ด้วย

สังคมการเมืองหลังการฆ่า

หลังจากการ ที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงผ่านอำนาจรัฐในการฆ่าประชาชนเมื่อปี 2553 นั้น หลายฝ่ายรวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะสร้างความปรองดองผ่าน วิธีต่างๆ อย่างไรก็ตามความพยายามในการผ่าน พรบ. ฉบับเหมาเข่งนั้นเป็นหนึ่งในกระบวนการการทำลายการสร้างสังคมการเมืองหลังการ ฆ่า บทความในส่วนนี้มุ่งอภิปรายถึงข้อเสนอว่าด้วยการสร้างสังคมการเมืองผ่านการ ให้อภัยโดยที่เหยื่อไม่ลืม

ในฐานะที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปนั่งรับฟัง ข้อวิจารณ์และข้อเสนอแนะในเชิงกฎหมายของอาจารย์คณะนิติราษฎร์ที่มีต่อร่างพร บ.นิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันนั้น นอกจากได้ทราบถึงปัญหาในทางหลักการและข้อกฎหมายหลายประการของพรบ.ฉบับดัง กล่าวดังที่ปรากฏในแถลงการณ์  แล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นข้อกังวลใจที่สุดของผู้เขียนต่อการประเมินสถานการณ์ นี้ในฐานะคนที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายก็คือปัญหาในทางปฏิบัติหากกฎหมายฉบับ นี้ผ่านทุกขั้นตอนและถูกนำไปดำเนินการบังคับใช้ในที่สุด

ประเด็น สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่คณะนิติราษฎร์ได้หยิบยกขึ้นมาในงานแถลงข่าวดังกล่าว คือการที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาทำ หน้าที่โดยตรงในการคัดกรองและพิจารณาว่าบุคคลใดบ้างที่เข้าเกณฑ์ในการได้รับ นิรโทษกรรมตามเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นอำนาจหน้าที่ในส่วนนี้จึงตกไปอยู่ในมือของฝ่ายกระบวนการยุติธรรมทั้ง หมดในการพิจารณาว่าบุคคลใดบ้างที่เข้าองค์ประกอบของการได้รับนิรโทษกรรมตาม กฎหมาย ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความยุ่งยากขึ้นมาในกรณีที่แต่ละองค์กรและ ขั้นตอนต่างๆของกระบวนการยุติธรรมตีความเกณฑ์ในการเข้าองค์ประกอบในการได้ รับนิรโทษกรรมแตกต่างกันออกไปซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละฝ่ายแต่ละ บุคคล

ทีนี้ในบรรดากลุ่มบุคคลซึ่งเป็นเป้าหมายของการได้รับนิรโทษ กรรมนั้น หากแบ่งคร่าวๆออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ทักษิณ 2. นักโทษการเมือง และ 3. เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและผู้สั่งการในการสลายการชุมนุม กลุ่มที่ดูจะมีความยุ่งยากมากที่สุดแน่นอนก็คือกลุ่มนักโทษการเมือง เพราะคดีต่างๆของนักโทษการเมืองนั้นอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการในกระบวนการ ยุติธรรมที่แตกต่างกันออกไปในปัจจุบัน บางคนอาจจะยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน บางคนอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ หรือบางคนถูกส่งฟ้องไปยังศาลและอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี บางคนก็ถูกศาลตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว หากการใช้ดุลยพินิจในแต่ละส่วนของกระบวนการยุติธรรมแตกต่างกันว่าบุคคลใด บ้างที่เข้าองค์ประกอบของการเป็นนักโทษการเมืองตามกฎหมายดังกล่าว ใครจะเป็นผู้รับประกันว่าท้ายที่สุดแล้วนักโทษการเมืองจะได้รับการนิรโทษ กรรมและได้ออกจากเรือนจำทั้งหมดทุกคนจากช่องโหว่นี้?

จากข้อห่วงใย ดังกล่าว ผู้เขียนได้ยกมือตั้งคำถามต่ออาจารย์คณะนิติราษฎร์ว่ามีความเป็นไปได้ที่เลว ร้ายที่สุดหรือไม่ ที่ผลในทางปฏิบัติหากกฎหมายดังกล่าวถูกประกาศใช้แล้วจะทำให้ในที่สุดนักโทษ การเมืองอาจจะไม่ได้ออกจากเรือนจำ ทักษิณอาจจะไม่ได้รับการนิรโทษกรรมและไม่ได้กลับประเทศไทย แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้สั่งการสลายการชุมนุมจะได้รับการนิรโทษกรรมเพียง กลุ่มเดียว ซึ่งอาจารย์วรเจตน์ก็ได้ตอบว่าหากประเมินจากมุมมองนี้แล้ว ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ (มากหรือน้อยก็สุดแท้แต่) ที่จะเกิดผลลัพธ์เช่นนั้นขึ้นมา!!

อาจจะมีคนจำนวนมากโต้แย้งผู้เขียน ว่ามองโลกในแง่ร้ายเกินไป โดยอ้างเหตุผลถึงเรื่อง super deal ของพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มอื่นๆ หรือเหตุผลเรื่องแผนซ้อนแผนของคนในพรรคอะไรก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วในการที่เราจะประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ที่แหลมคมหนึ่งๆว่าจะสามารถเป็นไปในทิศทางใดได้บ้าง เราควรที่จะประเมินผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ทางการเมืองจาก worst case scenario ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้แม้เพียงน้อยนิด ไม่ใช่ประเมินจากผลลัพธ์ด้านดีที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการคิดเข้าข้าง ตัวเองเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ต้องถามไปยังมวลชนผู้สนับสนุนพรบ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวและผู้มีส่วน เกี่ยวข้องของพรรคเพื่อไทย ว่าจะสามารถรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ได้หรือไม่? ถ้าผลลัพธ์ออกมาในด้านกลับที่เลวร้ายกว่าที่ตั้งใจจะให้เป็นโดยอยู่นอกเหนือ จากความคาดหมายและการควบคุม ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียจากการตัดสินใจและการประเมินที่ผิดพลาด ในครั้งนี้?

การที่ผู้เขียนยืนยันการคัดค้านร่างนิรโทษกรรมฉบับนี้ มิได้หมายความว่าผู้เขียนมองข้ามความสำคัญของเสรีภาพที่นักโทษการเมืองที่ อยู่ในเรือนจำสมควรได้รับ หรือปฏิเสธความสำคัญของความยุติธรรมที่คุณทักษิณควรได้รับจากการทำรัฐประหาร ปี 49 แต่อย่างใด แต่เพราะผู้เขียนเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วทั้งทักษิณและนักโทษการเมืองยังมี โอกาสที่จะได้รับเสรีภาพและทวงคืนความยุติธรรมได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การทำตามข้อเสนอเรื่องการลบล้างผลพวงของการรัฐประหารของคณะนิติราษฎร์ เป็นต้น เพราะทั้งคุณทักษิณและนักโทษการเมืองก็ล้วนยังมีชีวิตและมีโอกาสที่จะสามารถ ต่อสู้เพื่อทวงคืนของพวกนั้นได้ในอนาคต แต่สำหรับผู้ที่สูญเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมไปแล้วนั้น พวกเขาได้สูญเสียทั้งชีวิตอันมีค่าของเขาไปอย่างไม่มีวันหวนคืนได้อีก พวกเขาสูญเสียสิทธิและเสรีภาพที่พึงได้รับไปตลอดกาล และผู้ที่เสียชีวิตเหล่านั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขหรือทวงคืนสิ่ง ที่มีค่าเหล่านั้นและความยุติธรรมได้ด้วยตนเองอีกแล้ว

การออก พรบ.นิรโทษกรรมฉบับนี้นั้นถึงแม้ในท้ายที่สุดจะช่วยให้คุณทักษิณได้พ้นคดี และกลับประเทศได้จริง หรือช่วยให้นักโทษการเมืองได้รับเสรีภาพได้จริง แต่การนิรโทษกรรมให้กับผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดนั้นกลับเป็นสิ่งที่ ไปทำลายโอกาสที่มีอยู่น้อยนิดในการสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งความยุติธรรมนี้ถือเป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเราทุกคนในฐานะคนข้างหลังที่ ยังมีชีวิตอยู่จะสามารถทวงคืนมาให้แก่พวกเขาได้ หน้าที่ของผู้ที่รักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเรียกร้องความยุติธรรมมาโดยตลอดไม่ใช่การทำความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ ไม่ใช่ทำให้คนผิดได้รับโทษตามกฎหมาย และไม่ใช่การทำความยุติธรรมให้ปรากฏเป็นจริงบนผืนแผ่นดินนี้ในท้ายที่สุด หรอกหรือ?

ผู้เขียนตระหนักดีว่ามีกลุ่มญาติของผู้ที่สูญเสียจำนวน หนึ่งที่ออกมาประกาศสนับสนุนร่างพรบ.นิรโทษดังกล่าว พร้อมกับให้อภัยกับสิ่งทีเกิดขึ้นเพื่อยอมให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรเองก็เรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้อภัยซึ่งกันและกันเพื่อหาทางออกจากความ ขัดแย้ง ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจำนวนไม่น้อยก็เรียกร้องให้ฝ่ายเดียวกันที่คัดค้าน และญาติผู้เสียชีวิตลืมเรื่องที่ผ่านมาและให้อภัยต่อกันไป ซึ่งผู้เขียนเสนอว่าการขอให้ผู้สูญเสียลืมเหตุการณ์ในอดีตเพื่อให้อภัยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ในการสร้างสังคมการเมืองหลังการฆ่า

ผู้ เขียนขอยกย่องในน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของเหล่าญาติผู้สูญเสียที่ออกมาให้ประกาศ อภัยเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถึงที่สุดแล้วผู้เขียนก็เห็นว่าถึงแม้การให้อภัยจะเป็นสิ่งสำคัญมากที่ สมควรจะต้องเกิดขึ้นในความขัดแย้งนี้ แต่ในกรณีนี้นั้นมีเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้ คือการป้องกันและขจัดความเป็นไปได้ของการซ้ำรอยทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีโอกาส เกิดขึ้นได้อีกในอนาคต กล่าวคือสังคมการเมืองหลังการฆ่าจำเป็นต้องสร้างกฎเกณฑ์และมาตรฐานในการ ป้องกันมิให้เกิดการฆ่าประชาชนผ่านอำนาจรัฐขึ้นอีก ดังนั้น สังคมการเมืองหลังการฆ่าจึงต้องนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่เช่นนั้นแล้วในภายภาคหน้าสังคมไทยเราก็ยังจะต้องมีญาติผู้สูญเสียออกมา ประกาศให้อภัยเพื่อขอให้ประเทศเดินหน้าต่อไปอีกมากกว่าหนึ่งหนเป็นแน่

ไม่ เพียงเท่านี้ ผู้เขียนเล็งเห็นถึงความแตกต่างในสาระสำคัญอย่างมากระหว่างการนิรโทษกรรม (amnesty) กับการให้อภัย (forgiveness) เพราะคำว่านิรโทษกรรมซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า amnesia มีความหมายที่แปลว่าการหลงลืมหรือความจำเสื่อม หากกล่าวเช่นนี้ก็เท่ากับว่าการออกพรบ.นิรโทษกรรมนั้นหมายถึงการเรียกร้อง ให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยลืมเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในอดีตทั้งหมดไปเสีย แต่ในขณะที่คำว่าการให้อภัย (forgiveness) นั้นสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการจดจำได้หรือการมีความทรงจำอยู่ไม่ใช่การหลงลืม อดีต เพราะคนที่หลงลืมเหตุการณ์ทุกอย่างไปหมดสิ้นแล้ว ไม่อาจจะเป็นคนที่ให้อภัยแก่ใครได้เลย  ในแง่นี้การนิรโทษกรรมและการเรียกร้องให้ลืมอดีตไปเสียจึงไม่ใช่การตอบโจทย์ ที่ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการของการให้อภัยแต่อย่างใด

แต่ถึงแม้ จะยังจำได้หรือมีความทรงจำอยู่ ก็ไม่ได้แปลว่าการให้อภัยจะเป็นไปได้โดยง่ายหากไม่มีการปรับความสัมพันธ์ เชิงอำนาจเสียก่อน แล้วจะทำอย่างไร? อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยเสนอในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือ “อภัยวิถี” ว่าการให้อภัยนั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีความหมายเลย หากผู้ที่ให้อภัยหรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อยังอยู่ในสถานะด้อยอำนาจกว่าผู้ กระทำความผิด ต่อเมื่อเกิดการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้มีความเสมอกันแล้วเท่านั้น ผู้ให้อภัยหรือเหยื่อผู้ถูกกระทำจึงจะอยู่ในฐานะที่สามารถเป็นผู้กระทำการ (active actor) ในการ “ให้อภัย” หรือ “ไม่ให้อภัย” แก่ผู้ก่อความรุนแรงต่อตนเองได้อย่างแท้จริงและมีความหมาย ซึ่งการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจวิธีการหนึ่งที่เป็นไปได้มากที่สุด ก็คือการทำความจริงและความยุติธรรมให้ปรากฏ (เช่น มีการค้นหาข้อเท็จจริงต่างๆอย่างชัดเจน ค้นหาผู้กระทำความผิดและผู้มีส่วนรับผิดชอบ และมีการลงโทษตามกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรม) ซึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์เรียกว่าเป็น ความยุติธรรมที่มีผลในทางการเปลี่ยนแปลง (transformative justice) ซึ่งถือเป็นความยุติธรรมชนิดจะเกิดขึ้นและสามารถดำเนินไปคู่กับการให้อภัย ได้ในที่สุด

เมื่อประยุกต์นำกรอบคิดของอาจารย์ชัยวัตน์เพื่อทำความ เข้าใจสังคมการเมืองหลังการฆ่านั้น จะเห็นได้ว่าการผ่าน พรบ. เหมาเข่งนั้นมิได้เปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้สูญเสียจากการปราบปราม สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์มาเป็นผู้ให้อภัย ด้วยเหตุที่่ผู้ฆ่ามิได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทิ้งรอยแผลให้กับผู้สูญเสียในกรณีตากใบด้วยเช่นเดียวกันเมื่อ พรบ. ฉบับดังกล่าวได้ตีความเหมารวมครอบคลุมหลายประเด็น ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่อีกระลอก

ประชาธิปไตยไทยหลัง พรบ.

ความ พยายามผ่าน พรบ. เหมาเข่งในครั้งนี้เป็นไปตามที่ ปชป. และค่ายพระอาทิตย์ได้คาดคะเนไว้ว่าด้วยกรณีความไม่น่าไว้วางใจของนักการ เมือง ซึ่งส่งผลให้พลังของมวลชนทั้งสองกลุ่มเมีพลังพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ไม่ เพียงเท่านี้ หลายต่อหลายคนได้ใช้ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความชอบธรรมให้กับฐานแนวคิดของ ตนพร้อมทั้งเสียดสีผู้คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยต่างๆนาๆ ด้วยเหตุฉะนี้เอง หลายคนจึงเป็นกังวลต่อการนำเอาเหตุผลดังกล่าวมาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการ ริดรอนสิทธิ์ผู้ที่นิยมประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

อย่างไรก็ดี โดยธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยนั้น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจได้ผิดพลาดได้เหมือนกันทั้งหมดทั้งสิ้น ทุกคนในระบอบมีสิทธิ์ที่จะคะเนความผันผวนในสังคมการเมืองได้คลาดเคลื่อนด้วย กันแทบทั้งสิ้นดังที่นักคิดนักปรัชญาอย่างฮานนา อาเรนด์ได้เคยกล่าวไว้ว่าปริมณฑลทางการเมืองเป็นอาณาบริเวณของความไม่แน่นอน เช่นเดียวกันนั้นอาณาบริเวณของประชาธิปไตยไทยก็หลากเลื่อนไม่แน่นอนด้วยเช่น กัน การที่ฐานคิดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถคะเนการแอบเสนอ พรบ.เหมาเข่งได้อย่างถูกต้องแม่นยำนั้นมิได้หมายความว่าเขาได้ผูกขาดความ จริงทางสังคมไว้ได้

กล่าวถึงที่สุดคือ ไม่มีใครในสังคมการเมืองสามารถผูกขาดความจริงไว้เพียงอย่างเดียวได้ ไม่ว่าจะเป็นขั้วการเมืองใดหรือแม้กระทั่งความเห็นอันหลากหลายมากมายของนัก วิชาการก็ตาม ตัวอย่างที่สำคัญที่เห็นได้ชัดคือการที่ผู้ที่มักจะตั้งแง่ต่อที่มาของพรรค เพื่อไทยอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุลเคยเป็นหนึ่งในผู้ให้ความเห็นสนับสนุนทักษิณมากที่สุดจวบจน กระทั่งเป็นคนที่ออกมาประท้วงทักษิณ หรือการที่สนธิและอดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้สนับสนุนสนธิ บุญยรัตกลินทำรัฐประหารและก็ได้ออกโรงมาวิจารณ์อดีตผู้นำรัฐประหารในภายหลัง ตัวอย่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าใครก็ตามในระบอบดังกล่าวนี้มีโอกาสพลาดด้วย กันทั้งสิ้น

ดังนั้นการนำเหตุผลที่อยู่บนฐานของหลักใดหลักหนึ่งมา เพื่อใช้ในการผูกขาดความจริงทางการเมืองเพื่อปิดปากหรือลิดรอนสิทธิ์ของฝ่าย ตรงข้ามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้อย่างชอบธรรม

นอกเหนือจากนี้ คำถามหลักที่มีต่อทุกฝ่ายในสังคมไทยหากเหตุการณ์ความขัดแย้งกรณี พรบ.นิรโทษรรมนี้ผ่านพ้นไปแล้วก็คือ จะ เอายังไงกับการเดินหน้าของระบอบประชาธิปไตยไทยหลังจากนี้? สำหรับฝ่ายผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็คงต้องถามว่าจะหยุดยั้งการปกป้อง ประชาธิปไตยเพียงแต่การปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพียงเท่านั้นหรือ? ในเมื่อความเป็นจริงแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบธรรม (ที่มาของอำนาจ) ก็ไม่ได้เป็นเกณฑ์ในการวัดความเป็นประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว เพราะเกณฑ์ในการวัดความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลยังต้องประกอบกับการพิจารณา ลักษณะของวิธีการใช้อำนาจและเป้าหมายในการใช้อำนาจนั้นๆควบคู่กันไปด้วย

การ ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองที่ตนเองรักโดยไม่ตั้งคำถามแม้ในเรื่องที่ดูจะ ผิดพลาดหรือเป็นปัญหา และพร้อมที่จะทำลายฝ่ายที่เห็นต่างหรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลโดย ที่เข้าใจไปว่าตนเองกำลังปกป้องประชาธิปไตยอยู่นั้น จะทำให้ประชาธิปไตยไทยหน้าตาออกมาเป็นเช่นไร?

สำหรับฝ่าย ที่ต่อต้านรัฐบาล เราก็คงจะต้องตั้งคำถามว่าพวกเขาพร้อมจะใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ นอกกติกาประชาธิปไตย และนอกกติกาของกฎหมายวิธีใดๆก็ตามเพื่อที่จะโค่นล้มและขัดขวางรัฐบาลให้ได้ ในที่สุดหรือไม่? ถ้าใช่ก็ถือเป็นการให้ความสำคัญกับเป้าหมายโดยไม่เลือกวิธีการไปสู่เป้าหมาย นั้น เช่น ให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอรัปชั่น ให้ความสำคัญกับการต่อต้านรัฐบาล โดยไม่สนใจว่าวิธีการที่ใช้จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ระบอบประชาธิปไตยของไทยภายใต้วิธีคิดเช่นนีก็คงจะไม่เดินหน้าไปไหนเป็นแน่ จนกว่าพวกเราทุกฝ่ายจะสามารถขัดแย้งกันไม่ว่าในเรื่องอะไรได้อย่างถึงที่สุด โดยที่ไม่เล่นนอกกติกาประชาธิปไตย นอกกติกาของรัฐธรรมนูญ และไม่ละเมิดกรอบกฎหมายของบ้านเมืองแล้วเท่านั้น เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถขัดแย้งกันอย่างมีอารยะโดยที่ประชาธิปไตยของไทยก็ ยังสามารถพัฒนาเดินหน้าต่อไปได้

พวกเราทุกฝ่ายอยากจะเห็นประชาธิปไตยไทยหลังความขัดแย้งครั้งนี้หน้าตาเป็นเช่นไรกัน?

“Who run(s) the world?” and its problems

                                                   “Who run(s) the world?” and its problems*

                                                                                                                       ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี**
                                                                                                                      ธรรมชาติ กรีอักษร
***


                “Who run(s) the world?” คือคำถามสำคัญในการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศกระแสหลักมาเป็นเวลายาวนาน ใคร (who?) ในความเข้าใจทั่วไปมักมีความหมายที่เฉพาะเจาะจงถึงประเทศหรือรัฐเป็นสำคัญ คำถามดังกล่าวจึงวางอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า รัฐ’ (state) คือตัวแสดงหลักของการเมืองระหว่างประเทศ แม้ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลักจะมีสมมติฐานและข้อเสนอที่แตกต่างหลากหลาย แต่คำถามสำคัญที่ทฤษฎีต่าง ๆ ดังกล่าวไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ รัฐใดกันแน่ที่เป็นผู้กุมอำนาจ เช่น จากมุมของทฤษฎีสภาพจริงนิยมดั้งเดิม (classical realism) เชื่อว่าธรรมชาติที่เห็นแก่ตัวและแสวงหาอำนาจของรัฐ ทำให้นิยามของการเมืองระหว่างประเทศ เป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างตัวแสดงเท่านั้น และภายใต้เงื่อนไขของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ดังกล่าว อาจทำให้เกิดสมดุลของอำนาจซึ่งนำไปสู่การป้องกันสงครามและความเสียหายจากการถูกโจมตีในรูปแบบต่าง ๆ ได้[1] 
                การตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวนอกจากจะปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปในวงวิชาการแล้ว ยังพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่สาธารณะด้วย ช่วงหลายปีมานี้การนำเสนอข่าวต่างประเทศ มักให้ความสนใจกับการตั้งคำถามว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจนำในเวทีการเมืองโลกได้หรือไม่ ประเทศใดจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนที่สหรัฐ และสหรัฐจะสามารถรักษาสถานะของการเป็นมหาอำนาจไว้ได้หรือไม่ในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ฯลฯ[2] แม้สื่อจะแสดงตัวว่าเป็นกลางและปราศจากอคติ แต่การนำเสนอข่าวเหล่านี้ล้วนแต่แฝงสมมติฐานล่วงหน้าหรือทฤษฎีที่มองไม่เห็น (Implicit theory) ไว้ในวิธีการตั้งคำถามเวลานำเสนอข่าวทั้งสิ้น กล่าวคือ การตั้งคำถามว่ารัฐใดเป็นผู้กุมอำนาจเช่นนี้ มักบดบังและเบี่ยงเบนความสนใจของเราไปสู่การหาคำตอบให้แก่คำถามดังกล่าวเพียงอย่างเดียว จนทำให้เราหลงลืมไปว่าการเมืองโลกยังมีแง่มุมสำคัญอื่น ๆ ที่ควรได้รับการใส่ใจและศึกษา เพื่อให้ความเข้าใจต่อการเมืองระหว่างประเทศมีความครอบคลุมและซับซ้อนยิ่งขึ้น
                บทความนี้มุ่งตั้งคำถามกับสมมติฐานล่วงหน้า (preconception) ที่แฝงอยู่ในการตั้งคำถามลักษณะดังกล่าว โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกมุ่งตั้งปัญหากับวิธีคิดเรื่องตัวแสดงระหว่างประเทศกระแสหลัก ว่าไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการเมืองโลก เนื่องจากวิธีคิดดังกล่าวจำกัดความเข้าใจไว้ที่รัฐหรือประเทศเท่านั้น และไม่เปิดพื้นที่ให้กับตัวแสดงหรือองค์ประกอบแบบอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งกำลังขับเคลื่อนการเมืองโลกอยู่ในขณะนี้เช่นกัน ส่วนที่สอง บทความนี้พยายามชี้ให้เห็นว่า การตั้งคำถามว่ารัฐใดเป็นผู้กุมอำนาจนั้น ทำให้เราจดจ่ออยู่กับสถานะของรัฐ จนไม่เห็นเงื่อนไขหรือกระบวนการขึ้นสู่อำนาจของตัวแสดง กล่าวคือ การตั้งคำถามว่า “ใคร” ทำให้เราลืมสงสัยไปว่าตัวแสดง “ทำอย่างไร(how)” เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนำ ส่วนสุดท้ายจะเป็นการทดลองวิพากษ์การตั้งคำถามดังกล่าวโดยจับปรากฏการณ์ของการเมืองระหว่างประเทศที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้คือการขึ้นมาท้าทายสถานะมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกาโดยประเทศจีนว่ามีข้อจำกัดและจุดอ่อนอย่างไรจากการตั้งคำถามในลักษณะข้างต้น ถึงที่สุดแล้ว บทความนี้มุ่งตั้งปัญหาว่า “ใคร(who)” ในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงรัฐเพียงอย่างเดียว และมุ่งตั้งคำถามว่านอกจากรัฐและองค์การอื่น ๆ ที่ถูกนับว่าเป็น “ตัวแสดง” ในการเมืองโลกแล้ว ยังมี “อะไร(what)” เป็นปัจจัยนามธรรมที่กำลังขับเคลื่อนโลกอยู่หรือไม่ 

Who and What: ว่าด้วยตัวแสดง

                จากมุมมองของทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลัก ถึงแม้ทฤษฎีแต่ละสำนักจะมีความต่างกันในเชิงรายละเอียดของคำอธิบาย จุดยืนและข้อเสนอต่อการเมืองระหว่างประเทศ แต่จุดร่วมสำคัญประการหนึ่งที่ทฤษฎีกระแสหลักอย่าง classical realism, structural realism และ liberalism มีร่วมกัน คือการมองและจัดให้รัฐ (state) เป็นตัวแสดงหลักของการเมืองระหว่างประเทศ หรือที่มักเรียกกันว่ารัฐนิยม (statism) กล่าวคือ ในขณะที่ความแตกต่างสำคัญระหว่าง classical realism กับ structural realism อยู่ที่สภาพจริงนิยมดั้งเดิมมองว่าพฤติกรรมของรัฐนั้นเป็นผลมาจากธรรมชาติของมนุษย์ แต่สภาพจริงนิยมแบบโครงสร้างกลับมองว่าความต้องการอำนาจของรัฐเป็นผลมาจากโครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมของระบบระหว่างประเทศที่ผลักให้รัฐต้องแสวงหาอำนาจมากกว่ามองว่าเป็นผลจากธรรมชาติของมนุษย์[3] แต่ถึงกระนั้นจุดร่วมของทั้งสองทฤษฎีก็คือรัฐยังคงเป็นตัวแสดงหลักในการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องให้ความสำคัญในการวิเคราะห์อยู่ดี ในขณะที่เสรีนิยมนั้นแม้จะเสนอคำอธิบายธรรมชาติของรัฐที่ต่างออกไปจากสองสำนักข้างต้น โดยเชื่อว่ารัฐมีแนวโน้มร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมได้ผ่านการรวมตัวในลักษณะต่างๆ เช่น องค์กรระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ แต่คำอธิบายดังกล่าวก็ยังวางอยู่บนการมองว่ารัฐเป็นตัวแสดงหลักอยู่เช่นเดิม
                อิทธิพลของทฤษฎี IR กระแสหลักข้างต้นต่อการให้สถานะที่สำคัญแก่รัฐในการเมืองระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อมุมมองของวงวิชาการ สื่อสารมวลชน ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนทั่วไปในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆของการเมืองโลก อย่างไรก็ตามอิทธิพลดังกล่าวส่งผลให้เกิดข้อจำกัดต่อการวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศอย่างน้อย 3 ประการ  
                ประการแรก คือการละเลยตัวแสดงอื่นภายนอกที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors)  เช่น บทบาทขององค์การระหว่างประเทศ แม้ว่าในวงวิชาการจะมีการศึกษาองค์การระหว่างประเทศมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว แต่การศึกษาความสำคัญขององค์การระหว่างประเทศกลับถูกจำกัดและบดบังด้วยอิทธิพลของการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศกระแสหลักที่ให้ความสนใจกับรัฐเป็นหลัก ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ องค์การระหว่างประเทศถูกมองเป็นเพียงตัวแสดงรองซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองของผลประโยชน์ของรัฐเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่องค์การระหว่างประเทศมีบทบาทอิสระเป็นของตัวเองในการนำเสนอวาระทางการเมือง หรือกระทั่งกำหนดผลประโยชน์และบทบาทของรัฐด้วยซ้ำ[4] นอกจากความสำคัญขององค์การระหว่างประเทศจะถูกบดบังแล้ว ปัญหาจำนวนมากที่มาจากบทบาทของตัวแสดงภายนอกอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐยังไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควรอีกด้วย เช่น ขบวนการอาชญากรข้ามชาติ ขบวนการค้ามนุษย์ และขบวนการก่อการร้าย ที่ถูกมองว่าเป็น “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่(non-traditional threat)”[5] เป็นต้น แม้ว่าประเด็นเหล่านี้จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในวงการวิชาการและในพื้นที่สาธารณะหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา แต่การมองรัฐเป็นตัวแสดงหลักก็ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากจนไม่อาจปฏิเสธได้
                ประการที่สอง คือการละเลยตัวแสดงและการเมืองภายในของรัฐ (internal agencies and domestic politics) อันเป็นผลมาจากการแบ่งแยกความต่างระหว่างการเมืองภายนอกกับภายในรัฐโดยมองว่าการเมืองระหว่างประเทศมีสภาพเป็นอนาธิปไตย ไร้ระเบียบกฎเกณฑ์และเต็มไปด้วยการคุกคาม ในขณะที่การเมืองภายในรัฐนั้นมีสภาพความลดหลั่น มีสิทธิอำนาจที่ชอบธรรม มีการเจรจาประนีประนอม และมีความเป็นชุมชน[6] ที่กลมกลืนและเป็นเอกภาพ มุมมองเช่นนี้ได้นำไปสู่ความเชื่อว่าผู้ถือครองอำนาจภายในรัฐเท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศของรัฐนั้น ๆ ซึ่งทำให้ละเลยความเป็นจริงที่ว่า รัฐต่างๆเองล้วนมีการเมืองภายในระหว่างตัวแสดงต่างๆที่มีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันได้ และนำไปสู่การช่วงชิงอำนาจในการกำหนดทิศทางของกติกาและนโยบายระหว่างประเทศของรัฐที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เช่นกระบวนการและการเมืองของระบบราชการที่ย่อมมีส่วนสำคัญในการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติและเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างจากกลุ่มผู้นำในระดับชาติได้[7]
                ประการที่สาม การมองรัฐเป็นตัวแสดงหลักของการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้เรามักจะละเลยความสำคัญของอะไรบางอย่างที่มีลักษณะนามธรรมที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของตัวแสดงต่างๆในการเมืองระหว่างประเทศรวมทั้งรัฐเองก็ตาม กล่าวคือการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศแบบเดิม/กระแสหลักมักให้ความสำคัญกับอำนาจในลักษณะที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ (materialism) เช่น อำนาจในทางการทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่กลับละเลยไม่ใส่ใจกับอำนาจในลักษณะที่เป็นนามธรรมที่ทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมหรือส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของรัฐ เช่น วัฒนธรรม หลักการ วาทกรรม ระเบียบอำนาจนำ ชุดคุณค่าและอุดมการณ์ต่างๆ ฯลฯ[8]   
               

How: ว่าด้วยวิธีการ

 “การสร้างความยินยอม (อำนาจนำ) ไม่เคยเป็นเรื่องที่ทำได้โดยง่ายดาย
แต่มักเป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมและแบบแผนทางวัฒนธรรม
ซึ่งบงการพฤติกรรมของคนแต่ละกลุ่มและภาคปฏิบัติการของแต่ละสถาบัน

                                                                                        --
Amine Zidouh

                การตั้งคำถามในลักษณะที่จดจ่ออยู่กับสถานะอำนาจนำของรัฐหรือให้ความสนใจหลักว่ารัฐใดเป็นผู้กุมอำนาจนำในการเมืองระหว่างประเทศในแต่ละช่วงเวลา ส่งผลให้คนที่ตกอยู่ภายใต้กรอบของคำถามดังกล่าวถูกบดบังจนมองไม่เห็นสิ่งที่มีสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือเงื่อนไขและกระบวนการที่ทำให้การขึ้นสู่อำนาจของตัวแสดงดังกล่าวสำเร็จหรือเป็นไปได้ กล่าวคือการตั้งคำถามว่า “ใคร(who)” ทำให้มักมองข้ามหรือละเลยคำถามว่า “ทำอย่างไร(how)” ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าใจการเมืองระหว่างประเทศ เพราะสถานะของมหาอำนาจหรืออำนาจนำของรัฐต่างๆนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ หรือเกิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป แต่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการทางประวัติศาสตร์ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงต่างๆและการสร้างชุดคุณค่าหรือระเบียบในเชิงนามธรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับสถานะอำนาจนำดังกล่าว 
                 ในงานเรื่อง Liberal Leviathan: The Origins, Crisis, and Transformation of the American World Order ของ John Ikenberry คือตัวอย่างที่ดีของพยายามจะตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าว (how) และตอบคำถามอย่างเป็นระบบ โดยการการสำรวจสถานะอำนาจของประเทศที่ถูกรับรู้ร่วมกันว่าเป็นมหาอำนาจของโลกมาตั้งแต่หลังสงครามเย็นอย่างสหรัฐอเมริกา Ikenberry ทำให้เราเห็นว่า สถานะอำนาจนำในการเมืองโลกของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นผลมาจากสิ่งที่เขาเรียกว่า ระเบียบอำนาจนำแบบเสรีนิยม (liberal hegemonic order) ซึ่งสำหรับเขาแล้วอเมริกาถือได้ว่าเป็นหนึ่งในรัฐที่สร้างระเบียบในการเมืองระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และที่ผ่านมาอเมริกาก็รับภาระหน้าที่ทั้งในการสร้างและขับเคลื่อนระเบียบชุดนี้ โดยการจัดวางมันไว้ผ่านกลไกทางสถาบันแบบพหุภาคี การสร้างพันธมิตร ความสัมพันธ์แบบพิเศษและอื่นๆ เขากล่าวด้วยว่าสาเหตุที่ทำให้อเมริกาประสบความสำเร็จอย่างมากนั้นเป็นเพราะอเมริกาสามารถประสานการใช้อำนาจของตนเองเข้ากับการสนับสนุนระเบียบแบบแผนที่วางอยู่บนกฎเกณฑ์กติกาได้ เพราะสำหรับ Ikenberry แล้วอำนาจจะมั่นคงและมีความชอบธรรมมากที่สุดในเวลาที่มันทำงานอยู่บนระบบของกฎเกณฑ์กติกา (rule-based) ซึ่งหนังสือเล่มนี้ของเขาก็ได้สำรวจและอภิปรายถึงที่มาที่ไปของระเบียบอำนาจนำดังกล่าว และการครองอำนาจนำในระเบียบนั้นของอเมริกา ทั้งในทางรากฐานทฤษฎี จุดเริ่มต้นในทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งวงจรของความเปลี่ยนแปลงของมัน[9]
                ประเด็นสำคัญที่ต้องการจะชี้ให้เห็นก็คือหนังสือดังกล่าวก้าวพ้นไปมากกว่าแค่การวิเคราะห์รัฐในฐานะตัวแสดงหลักของการเมืองระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่หันไปให้ความสนใจสิ่งที่มีลักษณะนามธรรมอย่าง ระเบียบที่เรียกว่าระเบียบอำนาจนำแบบเสรีนิยมที่เป็นปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญต่อการขึ้นก้าวไปเป็นประเทศมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงเท่านั้นหนังสือดังกล่าวยังให้ความสำคัญกับกระบวนการและวิธีการ (how) ในการได้มาซึ่งสถานะอำนาจนำด้วยเช่นกัน ทั้งจุดกำเนิดที่มา ความเปลี่ยนแปลง จุดอ่อนและข้อจำกัด และยังสามารถพูดถึงแนวโน้มความน่าจะเป็นในอนาคตของทั้งตัวระเบียบและสถานะอำนาจนำของอเมริกาได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าช่วยทำให้เรามองเห็นและเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างลึกซึ้งและสลับซับซ้อนมากขึ้น   


ตัวอย่างการวิเคราะห์: จีนกับการท้าทายสถานะอำนาจนำของสหรัฐอเมริกา

เมื่อเห็นปัญหาเชิงทฤษฎีทั้งหมดที่มากับการตั้งคำถามแบบกระแสหลักข้างต้นแล้ว หากลองนำกรอบการพิจารณาดังกล่าวมาจับกับปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นในการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะกับกรณีเรื่องการก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจของจีนที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย จะพบว่าวิธีการมองประเด็นดังกล่าวที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งให้ความสำคัญกับตัวแสดงรัฐเพียงอย่างเดียวนั้นมีข้อจำกัดอย่างมาก สื่อต่าง ๆ มักให้ความสนใจกับการก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจของจีนในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย แต่พร้อมกันนั้นความสนใจในเรื่องดังกล่าวกลับจำกัดอยู่ที่คำถามไม่เพียงกี่คำถาม เช่น จีนจะขึ้นมาแทนที่สหรัฐได้หรือไม่ หรือสหรัฐจะรักษาสถานะของตนไว้อย่างไรเมื่อจีนกำลังตีตื้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านการทหาร ในปัจจุบัน สื่อมักรายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของจีน ที่มักมาคู่ขนานกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาที่เพิ่งฟื้นตัวขึ้นหลังจากต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008  เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว Business Insider รายงานว่า ปริมาณกำลังซื้อของจีนแซงหน้าสหรัฐไปเรียบร้อยแล้ว นอกเหนือจากการรายงานข่าวดังกล่าว[10] สื่ออื่น ๆ มักคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าสหรัฐได้จริง ๆ ในทุกด้านภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า[11] นอกเหนือจากเรื่องการแข่งขันกันพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศแล้ว สื่อยังรายงานข่าวด้านความมั่นคงแบบกระแสหลัก ที่มุ่งไปที่การพัฒนาอาวุธของอเมริกา โดยมีข่าวการพัฒนาอาวุธของจีนแซมอยู่บ้าง[12]
แม้ประเด็นด้านเศรษฐกิจจะเพิ่มความสำคัญขึ้นในโลกยุคหลังสงครามเย็น พร้อม ๆ กับที่ประเด็นด้านความมั่นคงลดความสำคัญลง[13] แต่คำถามเกี่ยวกับความเป็นไปของการเมืองโลกยังคงวนเวียนอยู่กับคำถามเดิม ๆ คือ รัฐใดจะเป็นผู้กุมอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ ความสนใจเกี่ยวกับบทบาทของจีนและอเมริกาจึงยังคงจำกัดอยู่เพียงมิติด้านเศรษฐกิจและการทหาร จนทำให้ลืมความซับซ้อนของประเด็นความเป็นไปที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองโลก
คำถามว่าจีนจะขึ้นมาแทนสหรัฐได้หรือไม่นั้น ไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยการมองประเด็นด้านเศรษฐกิจและการทหารเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาอำนาจในรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากอำนาจเชิงในเชิงรูปธรรมที่จับต้องได้ด้วย เช่น ต่อให้จีนมีอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจเหนือสหรัฐจริง รัฐอำนาจนิยมจีนจะมีความชอบธรรมในการก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจหรือไม่ เมื่อระเบียบของโลกปัจจุบันมีคุณค่าหลักแบบเสรีประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับและส่งเสริมอยู่ทั่วไป ? แม้ว่าจีนจะพยายามสร้างอำนาจแบบอ่อน (soft power) ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพยายามนิยามการเติบโตทางอำนาจของตนว่าเป็นการเติบโตอย่างสันติ (Peaceful Rise)[14] แต่จีนก็ไม่สามารถเข้าไปแก้ปมซึ่งเป็นใจกลางของปัญหาได้ และได้รับการโจมตีอยู่เนือง ๆ จากโลกตะวันตกในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออก อำนาจเชิงอุดมการณ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าโลกได้เข้าสู่ห้วงเวลาที่ Francis Fukuyama เรียกว่า จุดจบของประวัติศาสตร์ (the end of history) กล่าวคือ โลกหลังยุคสงครามเย็นเป็นช่วงเวลาที่การต่อสู้ทางอุดมการณ์ได้จบลงแล้วด้วยชัยชนะอุดมการณ์แบบเสรีนิยมประชาธิปไตย[15] ซึ่งอเมริกามีส่วนอย่างมากในการทำให้เกิดระบอบความจริงเช่นนี้ขึ้นมา หากข้อเสนอของ Francis Fukuyama ถูกต้องว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตย จีนก็ไม่มีทางชนะอเมริกาได้ เพราะสนามการต่อสู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่ยังรวมไปถึงแนวรบด้านความคิดและอุดมการณ์ด้วย
ขณะเดียวกัน เรามักหลงลืมไปว่าการขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจของแต่ละรัฐนั้น มีกระบวนวิธีการขึ้นสู่อำนาจที่แตกต่างกัน และยังมีระบอบสถาบันและบริบทเงื่อนไขที่รายล้อมมหาอำนาจอยู่ต่างกันด้วย เช่น การเป็นมหาอำนาจของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 หรือที่เรียกว่า Pax Britanica นั้นเกิดขึ้นได้ภายใต้บริบทของการล่าอาณานิคม โดยมีที่ประชุมแห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังสงครามนโปเลียน เป็นสถาบันที่ชอบธรรมในการรักษาดุลอำนาจกับรัฐอื่น ๆ ในยุโรป ส่วนกรณีของอเมริกานั้น การก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจนั้นเกิดขึ้นได้เนื่องจากรูปแบบสถาบันแบบเก่าล่มสลายลงไปพร้อมกับอำนาจนำของประเทศในยุโรปเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองครั้งสิ้นสุดลง ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งสหประชาชาติ และการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียต ซึ่งทำให้คุณค่าเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้รับการยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากสถาบันระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิมและเกิดขึ้นใหม่อย่างเป็นสากล หากมองภายใต้กรอบเช่นนี้ จะพบว่าจีนแทบไม่สามารถก้าวขึ้นมา “แทนที่” อเมริกาได้เลย ในความหมายที่การขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจเป็นเพียงการสลับตำแหน่งกันระหว่างแต่ละรัฐภายใต้เงื่อนไขสถาบันแบบเดิม แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จีนต้องก้าวขึ้นสู่อำนาจพร้อมกับบริบทและสถาบันการเมืองระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบอบไม่ใช่เรื่องง่าย หรือสามารถกระทำได้ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจหรือกำลังการทหารเพียงอย่างเดียว
การวิเคราะห์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าวิธีการมองโลกซึ่งมาพร้อมกับคำถามว่า “ใคร” เป็นผู้ขับเคลื่อนโลก มีข้อจำกัดต่อการทำความเข้าใจการเมืองโลกอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เห็นพลวัตของอำนาจรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งเป็นนามธรรมแล้ว ยังทำให้ไม่เห็นเงื่อนไขและสถาบันที่รายล้อมและกำกับตัวแสดงที่เป็นรัฐอยู่ แทนที่จะถามคำถามดังกล่าว ผู้ที่สนใจการเมืองโลกอาจต้องลองเปลี่ยนวิธีการมองโลกโดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า เงื่อนไขแบบใดที่ทำให้ตัวแสดงหนึ่ง ๆ มีอำนาจ แล้วจึงวิเคราะห์อำนาจรูปแบบต่าง ๆ อย่างรอบด้าน
กล่าวโดยสรุปเป้าหมายหลักของบทความนี้อยู่ที่ความพยายามชี้ชวนให้คิดถึงความซับซ้อนในการตั้งคำถามและวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ  ว่าไม่เพียงพอหากจะจำกัดอยู่เพียงแค่การพิจารณาไปที่ตัวแสดงหลักอย่างรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตระหนักว่ายังคงมีตัวแสดงอื่นๆที่สำคัญ -ทั้งภายในและภายนอก-นอกเหนือจากรัฐ รวมทั้งยังมีสิ่งที่มีลักษณะนามธรรมที่ไม่ใช่ตัวแสดงอย่างระเบียบ กฎเกณฑ์กติกา หลักการ ชุดคุณค่าและอุดมการณ์ ที่ส่งอิทธิพลต่อความเป็นไปของการเมืองโลก และอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือต้องให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามในลักษณะของ อย่างไรมากกว่าแค่ ใครหรือ อะไรเพียงเท่านั้น เนื่องด้วยการตั้งคำถามในลักษณะอย่างไรจะช่วยให้เราสามารถมองเห็นและวิเคราะห์กระบวนการ ที่มาของอำนาจ วิกฤติ จุดอ่อนจุดแข็ง และแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางและซับซ้อนกว่าการมองเห็นแต่ ใครหรือ อะไรเพียงอย่างเดียว 



* บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อใช้สำหรับการตีพิมพ์เผยแพร่ในงานรัฐศาสตร์วิชาการปี 2557 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  
** บัณฑิตระดับปริญญาตรี สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
*** นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภาคภาษาอังกฤษ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[1] Ned Lebow, Richard, “Classical Realism”, International Relations Theories: Discipline and Diversity, 2nd edition, Oxford University Press, p62-63.
[2] ตัวอย่างเช่น “จีนแซงหน้าสหรัฐ ฯ ขึ้นแท่นเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก,Voice TV, October 9, 2014, (http://shows.voicetv.co.th/voice-world-wide/120268)

[3] J. Mearsheimer, John, “Structural Realism”, International Relations Theories: Discipline and Diversity, 2nd edition, Oxford University Press, p78.
[4] Barnet, Michael, and Sikkink, Kathryn, “From International Relations to Global Society” in Oxford Handbook in International Relations, p71.
[5] น่าสนใจว่ากระแสความสนใจต่อ “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” เช่นนี้เป็นมุมมองที่อยู่ภายใต้กรอบแบบรัฐเป็นศูนย์กลางหรือไม่ เช่น กรณี 9/11 ที่สหรัฐ ฯ ให้ความสำคัญอย่างมากนั้น  แม้ว่าขบวนการก่อการร้ายจะได้รับความสำคัญอย่างมากในฐานะตัวแสดงใหม่ที่ไม่ใช่รัฐ แต่การให้ความสำคัญเช่นนี้ยังอยู่ภายใต้กรอบที่มองรัฐเป็นศูนย์กลางอยู่ดี เนื่องจากการให้ความสนใจกับตัวแสดงใหม่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อตัวแสดงใหม่ ๆ เป็นภัยคุกคามต่อรัฐเท่านั้น นอกจากการก่อร้ายแล้ว ประเด็นอื่น ๆ ที่สะท้อนผลประโยชน์และภัยคุกคามต่อรัฐยังรวมถึงภัยคุกคามอื่น ๆ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น
[6] อ้างแล้วใน Barnet, Michael, and Sikkink, Kathryn, p65.
[7] D. Krasner, Stephen, “Are Bureaucracies Important? (Or Allison Wonderland),” in American Foreign Policy: Theoretical Essays, 5th Edition, Pearson Education, Inc, p447. 
[8] อ้างแล้วใน Barnet, Michael, and Sikkink, Kathryn, p68.
[9] ดูเนื้อหาและรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ Ikenberry, John,  Liberal Leviathan: The origins, Crisis, and Transformation of the American World Order, 1st edition , Princeton University Press.

[10] “China Just Overtook The US As The World's Largest Economy,” Business Insider, October, 8, 2014  (http://www.businessinsider.com/china-overtakes-us-as-worlds-largest-economy-2014-10)
[11] ตัวอย่างเช่น “ชี้อีก6ปีเศรษฐกิจจีนแซงหน้าสหรัฐ,Daily News,  January, 9, 2013 (http://www.dailynews.co.th/Content/foreign/49958/%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%816%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%8B%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90)  
[12]  ตัวอย่างเช่น “สหรัฐฯหวั่นจีนพัฒนาอาวุธลับอย่างรวดเร็ว, ไทยรัฐ, January 10, 2011 (http://www.thairath.co.th/content/140328)
[13] Huntington, Samuel, “Why International Primacy Matters,International Security, 18 (4) อ้างถึงใน Baru Sanjaya, “Understanding Geo-economics and Strategy,” ใช้ในงานเสวนา ‘International Insurance Society’s Seminar: A New Era of Geo-economics: Assessing the Interplay of Economic and Political Risk,’ 23-25 March, 2012 (http://www.iiss.org/-/media/Images/Events/conferences%20from%20import/seminars/papers/64319.pdf)
[14] Bonnie Claser and Evan Medeiros, “The Changing Ecology of Foreign Policy Making in China: The Ascension and Demise of the Thoery of ‘Peaceful Rise’,” China Quaterly 190(2007): 291-310; Dai, “Stick to the Path of Peaceful Development”. อ้างถึงใน Sutter, Robert G., “Introduction,” Chinese Foreign Relations: Power and Policy since the Cold War, 3rd Edition, Rowman&Littlefield Publishers, Inc, p11.
[15] Fukuyama, Francis, “The End of the History and the Last Man,” Hamish Hamilton, London, p271. อ้างถึงในสรวิศ ชัยนาม, Children of Men: ภาวะหลังการเมืองและสัจนิยมแบบทุน,” จากโลกาภิวัตน์ถึงการปฏิวัติ: ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์, p76